Economics

วิเคราะห์ขีดแข่งขันไทย พบก้าวสู่ความเป็น 4.0 ชัดเจน

จุฬาฯ ระบุ ผลสำรวจดับเบิลยูอีเอฟชี้ชัด ไทยก้าวสู่ความเป็น 4.0 มากขึ้น หลังการสำรวจปรับเปลี่ยนเกณฑ์ และวิธีการคำนวณดัชนีความสามารถในการแข่งขันใหม่สะท้อนภาพยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 มากขึ้น

pasu
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พันธมิตรอย่างเป็นทางการของเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ในประเทศไทย เผยว่า ทางคณะเป็นผู้ทำการเก็บข้อมูลเชิงลึกจากแบบสอบถามกับผู้บริหารระดับสูง ขององค์กรขนาดใหญ่ และขนาดย่อมในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้ดับเบิลยูอีเอฟนำไปคำนวณดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยมีตัวชี้วัด 98 ตัว จัดแบ่งเป็น 12 ด้าน ที่สะท้อนภาพความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ

ด้วยเกณฑ์และวิธีในการคำนวณใหม่ของดับเบิลยูอีเอฟ ที่ออกแบบให้สะท้อนภาพของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 มากขึ้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 38 ด้วยคะแนน 67.5 ซึ่งนับว่าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 40 และมีคะแนน 66.3 แสดงให้เห็นว่าเมื่อพิจารณาจากเกณฑ์และวิธีการคำนวณโดยใช้เกณฑ์ 4.0 แล้ว ประเทศไทยได้ก้าวสู่ความเป็น 4.0 มากขึ้น

หากเปรียบเทียบกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จะพบว่า ด้านที่มีอันดับที่ดี และส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวมของไทย ได้แก่ ระบบการเงิน ที่ไทยอยู่อันดับ 14 ของโลก ได้คะแนน 84.19 คะแนน จาก 100 คะแนน โดยมีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมของเงินทุน การให้สินเชื่อ ผลิตภัณฑ์การเงินประเภทต่างๆ รวมทั้งระบบในการลด และกระจายความเสี่ยงต่างๆ ทางด้านการเงิน

ตัวอย่างของปัจจัยต่างๆ ภายใต้ด้านการเงิน ประกอบด้วย วงเงินสินเชื่อที่มีให้กับภาคเอกชน หรือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ ความพร้อมทางด้านการเงินในการสนับสนุนต่อสตาร์ทอัพ หรือ เสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์

thai 1
ที่มา: World Economic Forum

นอกจากนี้ ด้านขนาดของตลาด ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก และได้รับคะแนน 74.88 คะแนน โดยในด้านขนาดของตลาด จะสะท้อนให้เห็นขนาดของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ที่บริษัทต่างๆ ในไทยสามารถเข้าถึง โดยเป็นผลรวมของการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนและการส่งออก

สำหรับด้านที่ยังต้องพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่ความเป็น 4.0 ให้มากขึ้น ประกอบไปด้วย ด้านการแข่งขันภายในประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่อันดับที่ 92 ของโลก ด้วยคะแนน 53.4 ด้านนี้จะเกี่ยวข้องกับระบบการแข่งขันภายในประเทศที่เปิดให้บริษัทต่างๆ ได้มีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม รวมทั้งการปิดกั้นและความซับซ้อนของกฎระเบียบต่างๆ  ผ่านการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันของบริษัทต่างๆ กฎระเบียบที่ไม่ซับซ้อน และไม่ปิดกั้นต่อการแข่งขัน ย่อมจะนำไปสู่นวัตกรรมในด้านต่างๆ มากขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนบวก3 ยกเว้นเมียนมาที่ไม่มีข้อมูล ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับไทยอย่างสูงนั้น ไทยอยู่อันดับที่ 6 จาก 12 ประเทศ โดยเป็นรอง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และ จีน ซึ่งถือเป็นอันดับที่คงที่ติดต่อกันมาหลายปี ไม่ว่าจะใช้เกณฑ์และวิธีการวัดแบบใด นับว่าเป็นการสะท้อนสถานะทางการแข่งขันที่มั่นคงของไทยในเวทีนี้ได้เป็นอย่างดี

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight