Business

บอร์ดท่องเที่ยว เคาะ เก็บนักท่องเที่ยว 300 บาท เข้ากองทุนทำประกันคุ้มครองทุกคน

บอร์ดท่องเที่ยว ไฟเขียว เก็บเงินนักท่องเที่ยวคนละ 300 บาท เข้ากองทุน จัดหาประกันภัยคุ้มครองทุกราย เผยความคืบหน้าโครงการรับต่างชาติกลุ่ม STV

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (14 ม.ค.)  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  มอบหมายให้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  ประธานการประชุม คณะกรรมนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 หรือ บอร์ดท่องเที่ยว โดยมีการพิจารณาอนุมัตินโยบาย ด้านการท่องเที่ยว

บอร์ดท่องเที่ยว

ที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว ความคืบหน้าของมาตรการการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ และแรงงานได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยพิจารณาแนวทาง การสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ขณะที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ผ่านกลไกต่าง ๆ โดยเฉพาะการมีประกันภัย ให้กับนักท่องเที่ยว โดยจะพัฒนาด้านต่าง ๆ รวมถึงการจัดหาประกันภัยนั้น จะมาจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีแหล่งเงิน จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว

ที่ประชุมเห็นชอบ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการจัดเก็บ ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 300 บาทต่อคน ต่อการเข้ามาประเทศไทยในแต่ละครั้ง เพื่อสมทบเข้า กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้จ่ายในการบริหาร และพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงจัดให้มีการประกันภัย แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ระหว่างท่องเที่ยวภายในประเทศไทย โดยจะจัดเก็บรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจะได้จัดทำรายละเอียดต่อไป

ขั้นตอนหลังจากนี้ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ดำเนินการจัดทำประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดเก็บในรายละเอียด แล้วนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

พิพัฒน์ รัชกิจประการ
พิพัฒน์ รัชกิจประการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติปรับปรุง มาตรฐานการท่องเที่ยว ตามที่คณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยว ภายใต้คณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งชาติเสนอ เพื่อให้มาตรฐานการท่องเที่ยวของไทย ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงปรับปรุงระยะเวลา การรับรองมาตรฐาน ให้เหมาะสม เนื่องจากบางมาตรฐานให้ระยะเวลาสั้นเกินไป

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีมาตรฐานการท่องเที่ยวทั้งหมด 56 มาตรฐาน สำหรับที่จะมีการปรับปรุงมีทั้งหมด 5 มาตรฐาน ประกอบด้วย

  • มาตรฐานด้านที่พักเพื่อการท่องเที่ยว ประเภทโรงแรม
  • มาตรฐานที่พักแบบพำนักระยะยาว
  • มาตรฐานห้องน้ำสาธารณะเพื่อการเที่ยว
  • มาตรฐานบริการอาหารเพื่อการท่องเที่ยว
  • มาตรฐานสถานที่จำหน่ายของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว ประเภทสินค้าอัญมณี

สำหรับการปรับปรุงด้านระยะเวลาการรับรองนั้น จากทั้งหมด 56 มาตรฐาน จะมีการปรับปรุงระยะเวลารับรองมาตรฐานให้เหลือ 2 กลุ่มคือ กลุ่มรับรองให้ 3 ปี และ 1 ปี จากเดิมที่มี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รับปรุงให้ 1, 2 และ 3 ปี ซึ่งภายหลังปรับปรุง จะทำให้กลุ่มที่ได้รับการรับรอง 3 ปี มีทั้งหมด 54 มาตรฐาน และได้รับการรับรอง 1 ปีมี 2 มาตรฐาน

พร้อมกันนี้ ได้เห็นชอบ แผนการพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2565 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปรับตัวเข้ากับการท่องเที่ยววิถีใหม่

ในส่วนของวาระเพื่อทราบอื่น ๆ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึง สถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยในปี 2563 (ม.ค.-ธ.ค.) ว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกับสถานการณ์ทั่วโลก ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19โดยนักท่องเที่ยวทั่วโลก (ม.ค. – ต.ค.63) ลดลง 900 ล้านคน หรือลดลง 72% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ามายังประเทศไทยอยู่ที่ 6.69 ล้านคน ลดลง 33.21 ล้านคน หรือ ลดลง 83.22% ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยที่เที่ยวในประเทศ ตลอดทั้งปีอยู่ที่ 90.32 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 82.42 ล้านคน-ครั้ง หรือลดลง 47.71%

การลดลงดังกล่าว ส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการ และลูกจ้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้รัฐบาลได้เร่งออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีผลบังคับแล้วหลายมาตรการ ทั้งการกระตุ้นการท่องเที่ยว มาตรการด้านภาษี เช่น การลดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ ส่งเสริมเสถียรภาพการจ้างงาน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดภาระทางการเงิน เช่น การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม การให้สิทธิประโยชน์จากการว่างงาน การขยายเวลาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟแก่ผู้ประกอบการโดยไม่คิดดอกเบี้ย ตลอดจนมาตรการด้านการเงิน ที่ครอบคลุมทั้ง ผู้ประกอบการและลูกจ้าง และขณะนี้มาตรการเพิ่มเติมต่าง ๆ ก็ได้ทยอยเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่ออนุมัติ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้า โครงการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) ซึ่งโครงการได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2563 ซึ่งตามโครงการมีขั้นตอนการยื่นเอกสาร การตรวจคัดกรอง การกักตัวที่เข้มงวดก่อนอนุญาตให้ท่องเที่ยวในประเทศไทย

ข้อมูล ณ วันที่ 11 มกราคม 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภท STV เข้ามายังประเทศไทยผ่านการดำเนินการของบริษัท ลองสเตย์ จำกัด แล้ว 1,114 คน เฉพาะเดือน มกราคม 2564 มีนักท่องเที่ยวแจ้งความประสงค์เดินทางเข้าประเทศไทย 123 คน

ปัจจุบันมีทั้งโรงแรมและโรงพยาบาลใน 10 จังหวัด ที่สามารถเป็น ASQ และ ALQ ตามโครงการได้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับภาครัฐและเอกชนจัดแพลตฟอร์ม ASQ Paradise ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจอง ASQ การช้อปปิ้งออนไลน์ การให้ข้อมูลก่อนเดินทางและกิจกรรมระหว่างกักตัวของผู้ร่วมโครงการ ซึ่งระบบที่พัฒนาขึ้นจะรองรับนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยได้มากขึ้นและปลอดภัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo