General

สกัด ‘PM2.5’ กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งโรงงาน ยานยนต์ ภาคเกษตร คุมปล่อยฝุ่นพิษ

สกัด PM2.5 กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งตรวจโรงงาน ยานยนต์ ภาคการเกษตร ป้องกันปล่อยฝุ่นพิษเกินมาตรฐาน งัดทั้งมาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะยาว

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำมาตรการ สกัด PM2.5 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และภาคเกษตรอุตสาหกรรม ทั้งมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว

สกัด PM2.5

ในส่วนของมาตรการเร่งด่วน ในภาคอุตสาหกรรม ให้ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะโรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ หรือแหล่งกำเนิดความร้อน และอุปกรณ์การเผาไหม้ในพื้นที่ กทม. และจังหวัดปริมณฑล

นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือ ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจสอบ ควบคุมระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับแผนการผลิต และขอความร่วมมือ ให้มีการติดตั้งระบบตรวจสอบ การระบายมลพิษอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (CEMS) และเชื่อมโยงข้อมูลมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รวมทั้งการปรับแต่งการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากหม้อน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ และลดปัญหามลพิษทางอากาศ

ด้านมาตรการระยะยาว จะเดินหน้าขยายผลการติดตั้ง ระบบตรวจสอบการระบายมลพิษอากาศ แบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (CEMS) โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูล ให้ครอบคลุมพื้นที่ และประเภทการประกอบกิจการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมจำพวก 3 เตาเผาที่มีการใช้เชื้อเพลิง ชีวมวล และหม้อน้ำตามขนาดที่กำหนด

พร้อมกันนี้ ให้ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐาน การระบายมลพิษทางอากาศ จากโรงงาน ให้เข้มงวดมากขึ้น ตลอดจนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการออกกฎหมาย รายงานการปลดปล่อย และเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR)

โรงงาน 1

สำหรับมาตรการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้จัดทำมาตรการจูงใจ เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการผลิต และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผ่านมาตรฐานที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ที่ประกาศใช้แล้ว 37 มาตรฐาน จากทั้งหมด 63 มาตรฐาน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564

ขณะเดียวกัน ได้จัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อรองรับการทดสอบรถยนต์หรือชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในส่วนราชการ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถบัสไฟฟ้า ภายในประเทศ และการกำหนดอัตราค่าไฟคงที่ทุกช่วงเวลาสำหรับการชาร์ตยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งจัดทำแผนการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ในส่วนของมาตรการในภาคเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยการกำหนดนโยบายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ : อ้อยสด เป็นร้อยละ 20:80 ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 โดยมีมาตรการกำหนดราคาอ้อยสด กับราคาอ้อยไฟไหม้ ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้หันกลับมาตัดอ้อยสด จัดซื้อรถสางใบอ้อย เพื่อให้ชาวไร่อ้อยรายเล็กได้ยืมไปใช้

ขณะที่มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร โดยโครงการส่งเสริมสินเชื่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปีงบประมาณ 2562-2564 วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวมระยะเวลา 3 ปี เป็นจำนวน 6,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย จัดซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย รถแทรกเตอร์ รถบรรทุกอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่น ๆ

อ้อย
sugar cane plantation and fire

ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม มีการตรวจสอบ และติดตามสถานการณ์โรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่สามารถก่อให้เกิด ฝุ่นละออง PM2.5 ทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงงานที่มีการใช้พลังงานในหม้อน้ำ หม้อต้ม ที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และอุปกรณ์การเผาไหม้อื่น ๆ ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

นายกอบชัย  กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้จัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ สำหรับหม้อน้ำและหม้อต้ม ที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและลดฝุ่นละออง PM2.5 ของโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งการปรับแต่งการเผาไหม้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้ว ยังช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ตรวจ ติดตาม โรงงานอุตสาหกรรม ที่มีความเสี่ยงสร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันให้โรงงานลดการปล่อยมลพิษรวมถึงฝุ่น PM2.5 ให้เหลือน้อยที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo