World News

สงครามการค้าเริ่มกระทบ ‘กระเป๋าเงิน’ ชาวจีน

ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน กับสหรัฐ ส่งผลให้ราคาสินค้าขยับตัวขึ้นเป็นวงกว้างในแดนมังกร สร้างความกังวลให้กับเจ้าหน้าที่ จากการที่ผลกระทบเริ่มไปถึงผู้บริโภคแล้ว

chinaeconomy1

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน รายงานวานนี้ (16 ต.ค.)ว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ)ไต่ระดับขึ้นมาอยู่ที่ 2.5% ต่อปี เพิ่มขึ้น 0.2% จากเมื่อเดือนสิงหาคม

ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการเพิ่มขึ้นเร็วที่สุด นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ถ้าไม่นับช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่การบริโภคจำนวนมหาศาลมีแนวโน้มที่จะทำให้ข้อมูลเศรษฐกิจบิดเบือนไปได้

แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของซีพีไอดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากราคาอาหารที่ทะยานสูงขึ้น เพราะสภาพอากาศที่เลวร้ายส่งผลกระทบต่อการผลิต แต่การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกัน เพื่อตอบโต้ที่รัฐบาลสหรัฐเรียกเก็บภาษีทุ่มตลาดต่อสินค้าจีนนั้น ก็มีส่วนที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากสหรัฐอีก 25% เมื่อเดือนกรกฎาคม ทำให้รถยนต์เหล่านี้ต้องเสียภาษีทั้งหมด 40% ซึ่งบริษัทก็ได้ผลักภาระภาษีบางส่วนมายังผู้บริโภค

ปัจจุบัน ราคารถยนต์ไฟฟ้า โมเดล เอส รุ่นพื้นฐานของ “เทสลา” ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังของสหรัฐ จำหน่ายในราคาเกือบ 850,000 หยวน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ราว 710,000 หยวน ส่วน “บีเอ็มดับเบิลยู” และ “เดมเลอร์” ก็ได้ขึ้นราคารถเอสยูวีที่ผลิตในสหรัฐอีกราว 4-7%

ในเดือนนี้บริษัทลูกในจีนของ “เฮงเค็ล” ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และเคมีภัณฑ์ จากเยอรมนี ยังปรับขึ้นราคากาว และสินค้าอื่นๆ ที่จำหน่ายในจีน หลังจากเมื่อเดือนกรกฎาคมเพิ่งปรับขึ้นโดยเฉลี่ย 16% โดยอ้างถึงการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าอเมริกัน และเงินหยวนอ่อนค่าลง บ่งชี้ว่า บริษัทนำเข้ากาว และเคมีภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตจากสหรัฐ

เช่นเดียวกับ “3เอ็ม” ในจีน ที่ขึ้นราคาสินค้าราว 3-5% ผลจากราคาวัตถุดิบ และค่าแรงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า 3 เอ็มเป็นซัพพลายเออร์รายสำคัญของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลายรายแล้ว ทำให้เกิดความวิตกขึ้นมาว่า การขึ้นราคาสินค้าของบริษัท อาจส่งผลให้การผลิตมือถือมีราคาแพงขึ้น และอาจบั่นทอนกำไรของบรรดาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจีน ที่ปัจจุบันกำลังขยายตัวอย่างมากในตลาดโลก

xi

ตัวอย่างการขึ้นราคาสินค้าข้างต้น สร้างความกังวลให้กับทางการจีน ที่กำลังเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลง ในความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความไม่พอใจของประชาชน ซึ่งสินค้าที่ทางการให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ถั่วเหลือง

ระหว่างการเดินทางเยือนศูนย์วิจัยเกษตร ที่มณฑลเฮย์หลงเจียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ตะกร้าขนมปัง” จีน เมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้สอบถามนักวิจัยถึงวิธีการที่จะทำให้ถั่วเหลืองได้ผลผลิตสูง

ส่วนใหญ่แล้ว จีนจะนำถั่วเหลืองไปแปรรูปเป็นน้ำมันทำอาหาร และนำกากถั่วที่เหลือจากการแปรรูป ไปทำเป็นอาหารสุกร ซึ่งทั้งถั่วเหลือง และเนื้อหมู ถือเป็นอาหารหลักของชาวจีน ซึ่งการขึ้นลงของราคาถั่วเหลืองมีผลต่อซีพีไออย่างมาก

จีนนำเข้าถั่วเหลืองเกือบ 90% ของยอดการบริโภคทั้งหมด ซึ่งราว 1 ใน 3 ของการนำเข้านี้มาจากสหรัฐ แต่เมื่อเดือนกรกฎาคม ทางการได้ขึ้นภาษีนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐอีก 25% ซึ่งแม้จะมีเป้าหมายเพื่อกดดันเกษตรกรสหรัฐที่ให้การสนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ขณะเดียวกันก็เสี่ยงที่จะดันราคาถั่วเหลืองในประเทศพุ่งขึ้นด้วย

ผู้บริโภคจีนมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันพืช และเนื้อหมูอย่างมาก ซึ่งแม้ราคาเนื้อหมูจะยังอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อปีที่แล้ว แต่ราคาก็ทะยานขึ้นมาถึง 40% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

chinaeconomy2

สื่อท้องถิ่นจีนรายงานว่า ราคาถั่วเหลืองที่ปรับเพิ่มขึ้นราว 10-20% สร้างแรงกดดันให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูอย่างมาก และปัจจุบันเกษตรกรต้องประสบภาวะขาดทุนราว 200 หยวนต่อหมู 1 ตัว ซึ่งรัฐบาลจีนได้ดำเนินการอุดหนุนราคา ทั้งเพื่อสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น และเพื่อคุมราคาเนื้อหมูไม่ให้พุ่งสูง

ที่มา: Nikkei Asian Review

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight