Politics

จับตา‘โซเชียลมีเดีย’จุดเปลี่ยนเลือกตั้ง!

โอกาส “ครบรอบ 66 ปี อสมท หุ้นส่วนสังคมไทย”  จัดงานเสวนา “เจาะอนาคต ตอบโจทย์ประเทศไทย”   โดย สุทธิชัย  หยุ่น  นักสื่อสารมวลชนผู้รอบรู้สถานการณ์โลก และ วีระ ธีรภัทร นักจัดรายการวิทยุ กูรูเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม  ร่วมให้มุมมอง “การเลือกตั้ง” ครั้งใหม่ในประเทศไทย ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2562 พร้อมให้ จับตา‘โซเชียลมีเดีย’จุดเปลี่ยนเลือกตั้ง!

สุทธิชัย  กล่าวว่าหากปี 2562  ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง เชื่อว่าผลการเลือกตั้งจะแบ่งเป็น “ก๊ก”ต่างๆ เหมือนทุกครั้ง  โดยมี 2 ก๊กใหญ่ คือ ก๊กที่เลือกข้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่เลือกข้าง พล.อ.ประยุทธ์  เพราะหากเป็นเช่นนั้น มองว่าในด้านคุณภาพการเมืองไม่มีอะไรดีขึ้น และย่ำอยู่กับที่ เป็นการเมืองแบบ “ตัวเลข” ที่ใครมีจะมีตัวเลขมากกว่ากัน  และใครจะนั่งตำแหน่งไหน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงใด

จับตา‘โซเชียลมีเดีย’จุดเปลี่ยนเลือกตั้ง!
อสมท 66 ปี จัดเสวนา “เจาะอนาคต ตอบโจทย์ประเทศไทย”

“ผมอยากเห็นการเลือกตั้งพลิกล็อก ให้ผลชนะอยู่ในมือคนรุ่นใหม่ มีนโยบายใหม่เปลี่ยนไปจากปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ  เพราะมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเดิมและอาจจะแย่ไปกว่าเดิม เพราะมีเสียงค้าน”

มองว่าอารมณ์ของคนไทยในช่วงเวลานี้ ต้องการการเลือกตั้ง เพราะอยู่แบบไม่มีการเลือกตั้งมานานแล้ว หลังการเลือกตั้งแล้ว หากจะเกิดสถานการณ์ใดเป็นเรื่องที่ต้องว่ากันอีกครั้ง  แต่หากลากยาวการไม่เลือกตั้งออกไป “ความอึดอัด” อาจจะเป็นจุดสร้างปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นได้  เชื่อว่าปี 2562 จะมีการเลือกตั้ง

จับตา‘โซเชียลมีเดีย’จุดเปลี่ยนเลือกตั้ง!

สุทธิชับ มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ “โซเชียล มีเดีย” จะมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้  เพราะสามารถเชื่อมโยงและให้ข้อมูลประชาชนได้ทุกกลุ่ม สะท้อนได้จาก กรณี “ตูน ก้าวคนละก้าว”  กระแสฮิตละครบุพเพสันนิวาส

ดังนั้นการทำงานของนักการเมืองหลังจากนี้ ต้องใช้โซเชียล มีเดีย ในการทำงาน ด้านการรณรงค์แก้ปัญหาต่างๆ เช่น คอร์รัปชัน ที่เชื่อว่าคนไทยจะเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา

“หวังว่านักการเมืองรุ่นใหม่ จะเข้ามาแก้ปัญหาคอร์รัปชันแบบถอนรากถอนโคน  โดยต้องสร้างนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่ไม่เกี่ยวกับอายุ แต่มีความคิดใหม่ที่ต้องการสร้างสังคมที่ดี”

เชื่อว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพด้านการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ  เพราะเป็นการแข่งขันในระดับสากล  ดังนั้นคนไทยจะมองตัวเองแบบเดิมไม่ได้  คุณภาพการเมืองและสังคมจะไม่แย่ไปกว่านี้แล้ว และเห็นสัญญาณว่าคนรุ่นใหม่มีความคิดที่จะมาปฏิรูประบบต่าง ๆ ผ่านการเลือกตั้ง  และกระตุ้นพรรคเก่าให้ตื่นตัว เชื่อว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง โดยคนไทยมีส่วนร่วมผ่านสื่อโซเชียล  และกลุ่มต่างๆ  แต่หากไม่ปรับตัวจะไม่ทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ

ใช้สื่อโซเชียลสื่อสารประชาชน

ขณะที่ วีระ ไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก และ ปี 2562 ยังก่ำกึ่งว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะหากมองภาพประเทศไทยอีก 5-8 ปีข้างหน้า ขณะนี้ยังไม่ตกผลึก อีกหลายด้าน  โดยเฉพาะไม่เคยเรียนรู้การแชร์อำนาจ  เพราะการเลือกตั้งของไทย ไม่มีพรรคใดที่ครองเสียงเด็ดขาดและตั้งรัฐบาลได้ ช่วงนี้เป็นจังหวะที่พรรคต่างๆ กำลังปรับโครงสร้างภายในพรรค

“ประเทศไทยเลือกตั้งครั้งสุดท้าย ปี 2554 หากปี 2562 มีการเลือกตั้งเท่ากับว่าประเทศไทยไม่อยู่กับการเลือกตั้งมา 8 ปี  ดังนั้นถึงมีคำถามว่าจะมีปัญหาหรือไม่หากไม่มีการเลือกตั้งในปี 2562”

วีระ บอกว่า เขาได้รับการติดต่อจาก 3 พรรคการเมือง ลงปาร์ตี้ลิสต์  ถือเป็นครั้งแรกที่เห็นว่าการเมืองเปลี่ยนไปแล้วและน่าสนใจ

ในยุคที่คนไทยใช้โซเชียล มีเดีย จำนวนมาก มีบัญชีเฟซบุ๊ค 49 ล้านราย  หากตัดบัญชีซ้ำเชื่อว่าจะมีอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน  ,ไลน์ 41 ล้านราย เชื่อว่าจะมีอย่างน้อยกว่า 30 ล้านคน  เป็นคะแนนเสียงที่ไม่สามารถควบคุมได้  เพราะเห็นว่าโซเชียล มีเดีย เป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงคะแนนเสียงได้ เพราะหากเป็นยุคเดิมไม่สามารถแข่งขันกับผู้สมัครเดิมที่เข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้

 

ปั้นดิจิทัล แพลตฟอร์มไทย หนุนผู้ผลิตคอนเทนท์

 

Avatar photo