Economics

12 องค์กรวิชาชีพเสนอรัฐบาลล้มเทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ

“12 องค์กรวิชาชีพ” ยกมือเอกฉันท์!! เสนอรัฐบาลล้มเทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ ชี้! เหตุผล ทอท. ฟังไม่ขึ้น ยกเว้น “ไอซีเอโอ” จะยอมประทับตรารับรองมาสเตอร์แพลน

อัชชพล ดุสิตนานนท์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 ต.ค.) สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) เปิดเวทีสาธารณะในหัวข้อ “กะเทาะเปลือกสนามบินสุวรรณภูมิ” เพื่อเป็นพื้นที่กลางให้องค์กรผู้เกี่ยวข้องและบุคลากรในวิชาชีพสถาปัตยกรรม รวมถึงประชาชนในสังคม ร่วมระดมความคิดและไขข้อข้องใจ กรณีข้อพิพาทเรื่องการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 (Terminal 2) ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยบรรยากาศในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ร่วมงานประมาณ 300 คนและใช้เวลาเสวนาประมาณ 4 ชั่วโมง

สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้เชิญองค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษา ที่เกี่ยวกับด้านสถาปัตยกรรม 15 แห่ง เข้าร่วมรับฟังการเสวนาและประเมินผลร่วมกันหลังจบการเสวนา

นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยหลังจบการเสวนา โดยใช้เวลาไปประมาณ 4 ชั่วโมง 15 นาที จากเวลา 13.00-17.15 น. ว่า การเสวนาครั้งนี้มีองค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษา 12 แห่งเข้าร่วมรับฟัง จากที่เชิญไปทั้งหมด 15 แห่ง หลังจากจบการเสวนาองค์กรวิชาชีพและสถาบันการศึกษา 12 แห่ง ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประเมินผล ใช้เวลาประมาณ 10 นาที โดยที่ประชุมมีความเห็นเหมือนกันทั้ง 12 องค์กรว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ควรยุติการดำเนินโครงการอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน

เนื่องจากทุกคนได้ประมวลผลจากการเสวนาแล้วว่า ผังแม่บท (มาสเตอร์แพลน) ฉบับเก่าดีอยู่แล้ว ตอบโจทย์ทุกอย่าง สนามบินสุวรรณภูมิควรมีความหนาแน่นประมาณ 100-120 ล้านคนต่อปี ไม่ควรขยายความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้ถึง 150 ล้านคนต่อปีตามมาสเตอร์แพลนฉบับใหม่ ปี 2561 เพราะทำให้เกิดความหนาแน่นมากเกินไปและทำให้คุณภาพบริการลดลง

ดวงฤทธิ์ 1

สำหรับคำชี้แจงของ ทอท. นั้น ที่ประชุมเห็นว่าฟังไม่ขึ้น

“ทุกคนไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าเทอร์มินอล 2 ต่อ ทอท. ควรกลับไปขยายฝั่งตะวันตกและตะวันออก ของอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 จากนั้นเดินตามมาสเตอร์แพลนเดิม คือสร้างเทอร์มินอล 2 ทางด้านใต้ ฝั่งถนนบางนา-ตราด” นายอัชชพลกล่าว

นายอัชชพล กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ สมาคมสถาปนิกสยามฯ จะสรุปข้อเสนอและส่งให้รัฐบาลพิจารณาภายในสัปดาห์นี้ แต่ถ้ารัฐบาลจะให้เดินหน้าโครงการต่อ ก็ยังบอกไม่ได้ว่าทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ จะมีท่าทีอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอของ รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ และอดีตกรรมการบริหาร การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ต่อมาแปรสภาพเป็น ทอท.) ที่ระบุว่า ถ้าองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) เห็นชอบมาสเตอร์แพลนฉบับล่าสุด ทุกคนก็พร้อมจะยอมรับ มาสเตอร์แพลนฉบับนี้

S 69107740

สำหรับ 12 องค์กรที่เข้าร่วมหารือและประเมินผลการเสวนาครั้งนี้ เช่น สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย, สมาคมอุตสาหกรรมการสร้างไทยฯ สมาคมสถาปนิกสยามฯ  สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย สมาคมนักผังเมืองไทย  องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น  องค์กรอิสระ เช่น บริษัทสถาปนิก  คณะสถาปัตยกรรมฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง และสถาบันอาศรมศิลป์ เป็นต้น

ICAO ต้องประทับตราถึงยอมรับ

รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ และอดีตกรรมการบริหาร การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา ตนพยายามติดต่อ ไอซีเอโอเพื่อขอความชัดเจนเรื่อง Master Plan สนามบินสุวรรณภูมิ หลังจาก ทอท. อ้างว่าได้ปรับมาสเตอร์แพลนและเพิ่มโครงการอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ตามข้อเสนอของไอซีเอโอ

แต่จากการค้นคว้าและพูดคุยกับไอซีเอโอพบว่า โครงการอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 แตกต่างจากผลการศึกษาของไอซีเอโอหลายด้าน เช่น

  • ไอซีเอโอเสนอให้ใช้พื้นที่ด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ก่อสร้างเป็นส่วนต่อขยายอาคารเทียบเครื่องบิน A ขนาดย่อม (Concourse A Anex) ไม่ใช่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2
  • ไอซีเอโอเสนอให้พัฒนาเพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ แต่ ทอท. จะพัฒนาเพื่อรองรับผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศ

ขณะเดียวกันพื้นที่ก่อสร้างบนทางวิ่ง (Taxi Way) บริเวณดังกล่าวมีขนาดเล็ก จึงไม่น่าสงสัยว่ารองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนตามเป้าหมายหรือไม่

รศ.ดร.สมเจตน์ ขอให้ ทอท. แสดงหลักฐานเรื่องการปรับ Master Plan ในงานเสวนา พร้อมระบุว่า ทอท. ควรเปลี่ยนทัศนคติ (Mind set) อย่ายึดติดกับแนวคิดเรื่องอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของตัวเองมากกินไป

“เมื่อเอาไอซีเอโอมาอ้างตั้งแต่แรก ก็ต้องบอกให้ไอซีเอโอ approve เราจะ Happy เพราะตอนนี้ไอซีเอโอตกใจกับแนวคิด ทอท. แต่ถ้าไอซีเอโอเห็นชอบมาสเตอร์แพลนก็จบ กลับบ้านได้เลย” รศ.ดร.สมเจตน์กล่าว

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายจะกระจายสนามบินหลักจากดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ไปอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภาด้วยเป็นแห่งที่ 3 ในอนาคตผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิจึงจะอยู่ประมาณ 120 ล้านคนต่อปีตามมาสเตอร์แพลนปี 2536 ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 150 ล้านคนต่อปีตาม มาสเตอร์แพลน ปี 2561

ดังนั้นจะสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ด้านทิศตะวันออกให้สิ้นเปลืองทำไม เพราะต้องใช้งบประมาณถึง 4.2 หมื่นล้านบาท และการสร้างอาคารแห่งนี้จะสร้างปัญหามากมาย จึงเสนอให้ขยายอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ฝั่งตะวันตกและตะวันออกตามมาสเตอร์แพลนฉบับเดิมดีกว่า เพราะใช้งบประมาณแค่ 1 หมื่นล้านบาท อีกทั้งสอดรับกับการพัฒนาอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่กำลังก่อสร้างด้วย

ขณะที่ นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทอท. ได้วาง มาสเตอร์แพลนฉบับล่าสุดเอง โดยหยิบยกผลการศึกษาส่วนหนึ่งของไอซีเอโอ มาปรับใช้กับมาสเตอร์แพลนฉบับนี้ เพราะไอซีเอโอศึกษาไว้ต้ังแต่ปี 2542 แล้ว ซึ่งตอนนี้พฤติกรรมการบิน นโยบายรัฐบาล และเทคโนโลยีเปลี่ยนไปหมดแล้ว

สำหรับข้อเสนอเรื่อง Concourse A Anex ที่พัฒนาเป็นอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 นั้น ทอท. ขออธิบายว่า แม้ข้อเสนอเดิมจะใช้ชื่อเป็น Concourse A Anex แต่ขณะเดียวกันพื้นที่ตรงนี้ก็มีศักยภาพและไอซีเอโอก็มีการเสนอองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ชานชาลารถยนต์ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นอาคารผู้โดยสารได้

“เพื่อความสบายใจ เราต้องการแก้ปัญหา ถ้าต้องการใครมาเห็นชอบแผนแม่บท เราก็จะถามไอซีเอโอให้” นายเอนกกล่าว

อย่างไรก็ตาม งานเสวนาครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ดีกว่ามาโต้ตอบกันผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเบื้องต้นคิดว่า ทอท. ตอบข้อสงสัยไปได้แล้ว 50% ส่วนที่เหลืออีก 50% ก็ต้องรับฟังและจะรวบรวมรายละเอียดเพื่อตอบคำถาม โดยจะเชิญทุกฝ่ายเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยอีกครั้ง เพื่อตอบคำถามที่เหลือ เพราะเป็นเรื่องทางเทคนิค

Avatar photo