Business

EXIM BANK ‘พักชำระหนี้’ เงินต้น-ดอกเบี้ย ช่วยลูกค้าพื้นที่สีแดง ส้ม เหลือง

EXIM BANK จัดให้ มาตรการ “พักชำระหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย” ช่วยเหลือลูกค้าในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง ดูแลลูกค้า ทั้งผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกและผู้ส่งออก

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อภาคการส่งออกของไทย EXIM BANK ได้ออก “มาตรการพักชำระหนี้ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง” เพื่อเข้าไปดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุนลูกค้า ทั้งที่เป็นผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกและผู้ส่งออก ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดง (Red zone) สีส้ม (Orange zone) และสีเหลือง (Yellow zone) ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้

cell virus สถานกักกันโควิด ๒๑๐๑๑๒ 0

  • พักชำระหนี้เงินต้น ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน
  • พักชำระดอกเบี้ย เป็นระยะเวลาสูงสุด 3 เดือน สำหรับผู้ประกอบการอาหารแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง และผักผลไม้

สำหรับ มาตรการพักชำระหนี้ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง ลูกค้า EXIM BANK สามารถขอพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย โดยแจ้งความประสงค์ผ่านเว็บไซต์ของธนาคาร www.exim.go.th หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ดูแลลูกค้า ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 มีนาคม 2564 โดยธนาคารจะติดต่อกลับภายใน 3 วันทำการ

นอกจากนี้ EXIM BANK ได้ติดตามสถานการณ์ผลกระทบของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้ช่วยเหลือลูกค้า โดยการพักชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยสูงสุดนาน 6 เดือนไปแล้วกว่า 1,400 ราย เป็นจำนวนเงิน 36,853 ล้านบาท

SME

หลังจากนั้น มีผู้ประกอบการติดต่อขอรับมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการหลังสถานการณ์โควิด-19 เป็นจำนวนเงิน 4,050 ล้านบาท

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือของ EXIM BANK ในครั้งนี้ เพื่อเยียวยา และบรรเทาผลกระทบให้แก่ลูกค้าที่อาจประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ หรือขาดแคลนแรงงาน สำหรับผลิตสินค้า เนื่องจากการกักตัวหรือติดเชื้อ ตามมาตรการภาครัฐเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการขนส่งและส่งออกสินค้า

ขณะเดียวกัน ยังพบปัญหาผู้ซื้อปฏิเสธสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอาหาร อาหารทะเลแช่แข็ง และผักผลไม้ของไทย เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เพื่อรอโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสินค้าส่งออกของไทย ภายหลังการพัฒนาวัคซีนมีความคืบหน้าไปมาก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo