World News

รู้จัก ‘เจาะพยู’ ท่าเรือ-รถไฟสายใหม่ ‘เมียนมา’ ต่อจิ๊กซอว์เส้นทางสายไหมของจีน

รู้จัก “เจาะพยู” อนาคตท่าเรือน้ำลึก-อุตสาหกรรม-ทางรถไฟสายใหม่ใน “เมียนมา” ตัวต่อจิ๊กซอว์โปรเจ็คหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของประเทศจีน

วานนี้ (10 ม.ค. 64) สถานทูตเอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมาเปิดเผยว่า จีนและเมียนมาลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ของทางรถไฟที่เชื่อมมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ทางตอนกลาง กับเจาะพยู เมืองสำคัญในรัฐยะไข่ของเมียนมา ซึ่งอยู่ห่างกันกว่า 600 กิโลเมตร

เจาะพยู เมียนมา หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
โครงการท่อส่งน้ำมันและก๊าซจีน-เมียนมา ในเมืองเจาะพยู รัฐยะไข่ของเมียนมา วันที่ 13 ม.ค. 64

เฉินไห่ เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา กล่าวในพิธีว่าทางรถไฟสายดังกล่าวจะมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเมียนมา ตลอดจนเสริมสร้างกระบวนการปรองดองและสร้างสันติภาพในเมียนมา

อู ต้าน สิ่น หม่อง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของเมียนมา กล่าวในพิธีว่าความร่วมมือด้านทางรถไฟจีน-เมียนมา ซึ่งรวมถึงสายมัณฑะเลย์- เจาะพยู ถือเป็นโครงการสำคัญสำหรับแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา

รัฐมนตรีเมียนมายังแสดงความขอบคุณจีน สำหรับการสนับสนุนระยะยาวในการพัฒนาสันติภาพและโครงการรถไฟในเมียนมา โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างสองประเทศจะสร้างผลประโยชน์ต่อประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย

เจาะพยู เมียนมา หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ก8ด46กห4ด

สำหรับภาพลักษณ์ของ “เจาะพยู” ตลอดเวลาที่ผ่านมาคือ “เมืองประมง” แห่งหนึ่งในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของเมียนมา แต่ภาพดังกล่าวกำลังจะเปลี่ยนไปด้วยการพัฒนาจาก “โครงการท่าเรือน้ำลึก” ในปัจจุบัน

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 เมียนมาและบริษัท ซีติก กรุ๊ป (CITIC Group) ของจีน ร่วมลงนามข้อตกลงกรอบการทำงานในโครงการท่าเรือน้ำลึกของเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) เจาะพยู โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่นจำนวนมาก

ตูนนู (Tun Nu) ประธานสมาคมผู้สูงอายุเมืองเจาะพยู วัย 72 ปี กล่าวว่าโครงการท่าเรือน้ำลึกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และส่งเสริมการพัฒนาของเมียนมาได้

“คนหนุ่มสาวในเจาะพยูส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาที่ดี แต่ขาดโอกาสในการทำงาน ทุกปีจะมีนักศึกษาจบใหม่จากสถาบันเทคนิครัฐบาลเจาะพยู (Kyaukpyu Government Technical Institute) ราว 200 คน ผมจึงหวังว่าโครงการนี้จะช่วยคนหนุ่มสาวเหล่านี้ โดยสร้างงานให้คนกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น” ตูนนูกล่าว

ข้อมูลการประเมินเบื้องต้น หากท่าเรือน้ำลึกเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบพร้อมกับอุทยานอุตสาหกรรม อาจเพิ่มยอดการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รายปีของเมียนมาราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 แสนล้านบาท นอกจากนั้นรัฐบาลเมียนมาจะมีรายได้สะสมจากภาษีถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.5 แสนล้านบาท จาก 2 โครงการในระยะสัมปทาน

เจาะพยู เมียนมา

อูจอจอโซ (U Kyaw Kyaw Soe) เจ้าของบริษัทก่อสร้างในเจาะพยู แสดงความคาดหวังว่าสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้น และบริษัทของเขาจะได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกด้วย โดยกล่าวว่า “ผู้ประกอบการในเจาะพยูจำนวนไม่น้อยต่างตั้งตารอจะมีส่วนร่วมในการก่อสร้างโครงการนี้ เรากำลังวางแผนหารือวิธีการสร้างงานให้ชาวบ้านผ่านโครงการท่าเรือน้ำลึกเจาะพยู และหนทางที่จะดึงดูดพวกเขาเข้ามาทำงาน”

รัฐสภาเมียนมาระบุว่าแต่ละปี เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ จะสร้างตำแหน่งงานใหม่แก่ชาวบ้านมากกว่า 100,000 อัตรา

ด้านเญนน์ชานน์มอง (Nyeinn Chann Maung) ประธานสมาคมการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์เขตเจาะพยู (Kyaukpyu District Ethnic Development Association) กล่าวว่าโครงการดังกล่าวมีความสำคัญต่อการพัฒนาของ เจาะพยู เขาเชื่อว่าโครงการนี้จะผลิดอกออกผลงดงาม

“ในโลกนี้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่มากมาย ไม่ใช่ทุกที่จะประสบความสำเร็จ แต่เราเชื่อมั่นว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษเจาะพยูจะประสบความสำเร็จ” เญนน์ชานน์มองกล่าว

“เมื่อท่าเรือน้ำลึกก่อสร้างแล้วเสร็จ การคมนาคมขนส่งและการจ้างงานในท้องถิ่นจะดีขึ้น” ดอเอตานดาลินน์ รองศาสตราจารย์สถาบันเทคนิครัฐบาลเจาะพยูกล่าว

สีจิ้นผิง e1610350998511

ข้อริเริ่มริเริ่ม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) เป็นนโยบายด้านต่างประเทศที่สำคัญของรัฐบาลประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง มีเป้าหมายเพื่อแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างจีนและแถบประเทศในเส้นทางสายไหมโบราณ ทั้งทางบกและทางทะเล ในปัจจุบันก็คือประเทศรอบข้าง ทางบกยาวไปจนถึงยุโรป ทางทะเลก็จะคลอบคลุมไปถึงประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งไทยก็รวมอยู่ในหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนี้ด้วย

แนวคิดของผู้นำประเทศจีน คือ ฟื้นฟูเส้นทางสายไหมขึ้นมาและแสวงหาการร่วมมือด้านต่าง ๆ ตามยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป แนวคิดการร่วมมือระหว่างประเทศของเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลใหม่นี้ไม่ได้จำกัดแค่ทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการร่วมลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รางรถไฟเชื่อมต่อและเชื่อมโยงจีนถึงประเทศในแถบเส้นทางสายไหมเข้าด้วยกัน

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo