Digital Economy

ชวนดู AI เบื้องหลัง Grab โฉมใหม่

นายธรินทร์ ธนียวัน
นายธรินทร์ ธนียวัน

ปรับโฉมหน้าตากันไปแล้วสำหรับแกร็บ (Grab) ที่ปัจจุบันเรียกตัวเองว่าเป็นแพลตฟอร์มแบบ Online to Offline เต็มรูปแบบ แต่นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนหน้าตาให้ทันสมัยขึ้น แกร็บเวอร์ชันใหม่ยังมาพร้อมเอไอเบื้องหลังหลายด้านมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่แกร็บบอกว่ามีสูงถึง 2.5 พันล้านเที่ยวใน 8 ประเทศที่ให้บริการแล้วนั่นเอง

สำหรับฟีเจอร์ใหม่ของแกร็บที่มีเอไออยู่เบื้องหลัง ได้แก่

  • ระบบตรวจสอบความเหนื่อยล้าในการขับขี่ของพาร์ทเนอร์ผู้ขับ (อยู่ระหว่างเตรียมเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้) โดยระบบดังกล่าวจะส่งข้อความเตือน และแนะนำให้พักได้หากพบว่าพาร์ทเนอร์ผู้ขับมีชั่วโมงการให้บริการต่อเนื่องเกินระยะเวลาที่กำหนด (อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมควรอยู่ที่เท่าใด)
  • ระบบเทเลมาติกส์ (เตรียมเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้เช่นกัน) เป็นระบบที่ตรวจจับพฤติกรรมการขับขี่ การเร่งความเร็ว การเบรก ฯลฯ ผ่านจีพีเอส โดยพาร์ทเนอร์ผู้ขับจะได้รับรายงานพฤติกรรมการขับขี่ของตนเองเพื่อนำไปปรับปรุงให้ขับขี่ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ การนำเอไอเข้ามาช่วยงานเบื้องหลังอย่างในสองฟีเจอร์ที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ผู้บริหารของแกร็บอย่างนายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า ต้องการยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตมาถึง 24,000 คนในแต่ละปี

“หลังจากมีการเปิดตัวระบบระบบเทเลมาติกส์ไปแล้วในต่างประเทศ พบว่าพาร์ทเนอร์ผู้ขับขับรถเร็วลดลง 50% และพฤติกรรมเบรกและเร่งความเร็วแบบกระทันหันก็ลดลงถึง 20%”

โดยนี่อาจเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำเอไอและบิ๊กดาต้ามาแก้ไขปัญหาด้านการจราจรเป็นสิ่งที่มีการพูดถึงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายประเทศด้วย

นอกจากการใช้เอไอด้านความปลอดภัยแล้ว แกร็บเวอร์ชันใหม่ยังมีการเปิดตัวอีกหลายฟีเจอร์ที่แม้ไม่ได้อิงกับเอไอเต็มรูปแบบแต่ก็สร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์มได้เช่นกัน ประกอบด้วย

  • การยืนยันตัวตนผู้ร่วมทาง ทั้งพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร กรณีนี้แกร็บบอกว่า ทำเพื่อความโปร่งใส และทำให้เกิดความไว้วางใจระหว่างผู้นั่ง – ผู้ขับ ได้มากขึ้น โดยในส่วนของพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่จะมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมด้วย และคนที่เคยมีประวัติอาชญากรรมจะไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมขับ
  • เพิ่มปุ่มขอความช่วยเหลือแบบฉุกเฉิน (Emergency SOS) โดยจะอยู่ด้านบนมุมขวาของหน้าจอ หากเกิดเหตุผิดปกติ ผู้ใช้บริการสามารถกดปุ่มนี้เพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เลย เพราะระบบจะโทรตรงไปยังหมายเลข 191 พร้อม ๆ กับส่ง SMS ไปยังเบอร์ของคนที่เราไว้ใจให้อีกด้วย
  • เพิ่มความมั่นใจแบบเบา ๆ กับฟีเจอร์ Share My Ride เพื่อให้สามารถแชร์ตำแหน่งที่ขับขี่อยู่ ณ ปัจจุบันให้แก่คนที่รักและห่วงใย (ฟีเจอร์นี้ใช้ได้ทั้งพาร์ทเนอร์ผู้ขับและผู้นั่ง)
  • ปกปิดเบอร์โทรศัพท์ใน Grab Chat ในกรณีที่พาร์ทเนอร์ผู้ขับและผู้ใช้บริการจะแชทสอบถามกันก่อน จะมีการปกปิดเบอร์โทรศัพท์ให้เพื่อความเป็นส่วนตัวและปกป้องผู้ใช้งาน
  • คอลล์เซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง โดยมีพนักงานให้บริการทั้งสิ้น 150 คน

ทั้งนี้ นายธรินทร์ เผยว่า ที่ผ่านมา จำนวนการทำธุรกรรมบนแอพพลิเคชันของแกร็บที่ประกอบด้วยการรับส่งอาหาร, รับส่งผู้คน และรับส่งสิ่งของ มีตัวเลขเติบโตขึ้นทุกด้าน โดยบริการรับส่งอาหารโตสูงที่สุด 20 เท่า นับตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ขณะที่ในภาพรวมของแพลตฟอร์ม แกร็บมีผู้ประกอบการรายย่อยให้บริการอยู่บนแพลตฟอร์มแล้วกว่า 8 ล้านราย โดยรวมทั้งพาร์ทเนอร์ร่วมขับ และผู้ประกอบการร้านอาหาร และมียอดของ GrabBike ในประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนามรวมกันทั้งสิ้น 400,000 ราย

ส่วนเม็ดเงินลงทุนส่งท้ายปลายปีของแกร็บที่มีการประกาศในวันนี้คือ การลงทุนด้านความปลอดภัย ที่แกร็บระบุว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขพร้อมมีการอ้างถึงกรณีของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ถูกเจาะระบบไปเมื่อไม่นานมานี้ด้วยว่า ไม่ต้องการให้ผู้ใช้งานของแกร็บเจอประสบการณ์เช่นนั้น

 

Avatar photo