Business

โควิด-19 รอบใหม่ฉุดดัชนีเศรษฐกิจ คนกังวลเรื่องอาชีพ-รายได้ในอนาคต

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เผย โควิด-19 รอบใหม่ ฉุดดัชนี เศรษฐกิจ ลดลงครั้งแรกรอบ 4 เดือน คนกังวลเรื่องอาชีพ-รายได้ในอนาคต แนวโน้มยังเปราะบาง

รายงานจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในเดือนธันวาคม 2563 ภาคครัวเรือนกลับมามีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพอีกครั้ง หลังมีการแแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนธันวาคม 2563 และในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับลดลงเป็น 40.2 และ 40.7 ตามลำดับ จากระดับ 41.0 และ 41.1 ในเดือนพฤศจิกายน 2563

โควิด-19 รอบใหม่ เศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 เริ่มมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ในประเทศเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะบางจังหวัดที่มีการระบาดหนักได้มีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ โดยต้องปิดบางสถานที่เป็นการชั่วคราว ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนยกเลิกแผนการท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปี ขณะที่กิจกรรมใหญ่ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือ งานเคาท์ดาวน์ถูกยกเลิกเช่นกัน จึงเป็นสาเหตุให้ภาคครัวเรือนเริ่มกลับมามีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อภาวะการมีงานทำและรายได้

โดยดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในปัจจุบันลดลงอยู่ที่ 46.9 จากระดับ 48.9 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานจะยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวต่อได้และมีแนวโน้มเปราะบางต่อเนื่อง

ล่าสุดข้อมูลการจ้างงานระบุว่า แม้จำนวนผู้ว่างงานจะมีแนวโน้มลดลง แต่จำนวนชั่วโมงการทำงานยังลดลงต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือนในด้านต่าง ๆ ขณะที่แรงงานจบใหม่ส่วนมากยังเผชิญปัญหาการว่างงาน

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI)
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI)

นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับระดับราคาสินค้าทั้งในระดับปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องไปกับระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2563 ที่ติดลบน้อยลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ -0.27% เมื่อปีต่อปี จากราคาอาหารสดที่ยังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบในดัชนีระดับราคาสินค้าที่ได้ทำการสำรวจพบว่า ครัวเรือนกังวลในเรื่องของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยารักษาโรคและบริการด้านสุขภาพสูงขึ้นมาก เนื่องจากการกลับมาระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้ครัวเรือนต้องกลับมามีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ราคาสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันโรคได้กลับมาปรับสูงขึ้นเช่นกัน อีกทั้งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ เช่น คนละครึ่งจะเริ่มหมดลงบางส่วน โดย 10 ล้านคนแรกที่ลงทะเบียนในเฟสที่ 1 จะได้สิทธิเพิ่มเพียง 500 บาทต่อคน

องค์ประกอบดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน

มาตรการเยียวยาพยุง “พฤติกรรมจับจ่าย”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของภาคครัวเรือนในปี 2563 แม้ว่าในปีที่ผ่านมาครัวเรือนไทยจะเผชิญปัญหารายได้ลดลง มีปัญหาในเรื่องการว่างงาน แต่ครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ได้ทำการสำรวจยังมีพฤติกรรมการใช้จ่ายในซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในระดับเดียวกับปีก่อน ทั้งในเรื่องของความถี่ในการซื้อสินค้า ขนาดของสินค้า ปริมาณสินค้าที่ซื้อ รวมถึงค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคต่อเดือน ยกเว้น ในเรื่องของความถี่ในการไปงานลดราคาสินค้า ซึ่งคาดว่าเกิดจากผู้บริโภคบางส่วนเริ่มซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ระดับการใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่อยู่ในระดับเดิมบ่งชี้ว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังสามารถใช้จ่ายดำรงชีวิตได้ในระดับปกติ เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐตลอดทั้งปี เช่น มาตรการเราไม่ทิ้งกัน (จ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน) มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน, มาตรการคนละครึ่ง, มาตรการเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) เป็นต้น สามารถเยียวยาวผลกระทบที่เกิดจาก โควิด-19 ได้บางส่วน ทำให้ครัวเรือนส่วนมากยังมีพฤติกรรมใช้จ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้ในระดับปกติ

กห5ด46ก

กังวล “โควิด-19 รอบใหม่” เศรษฐกิจ ไทยยังเปราะบาง

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในเดือนธันวาคม 2563 และ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังครัวเรือนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะการจ้างงาน รายได้ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก โควิด-19 รอบใหม่ เริ่มกลับมาระบาดซ้ำในประเทศอีกครั้ง

ในระยะข้างหน้า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยมีแนวโน้มเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นด้านรายได้และการจ้างงาน ซึ่งขึ้นกับระยะเวลาและมาตรการที่ใช้ในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด

ทั้งนี้ การกลับมาแพร่ระบาดซ้ำของ โควิด-19 จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ กลับมาชะงักชะงันอีกครั้ง อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กำลังเริ่มกลับมาฟื้นตัวจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญต่อการจ้างงานที่ยังมีแนวโน้มเปราะบาง สถานการณ์ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งระยะเวลาที่ใช้ควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาด รวมถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ใช้ ส่งผลให้ภาวะการครองชีพของครัวเรือนมีแนวโน้มเปราะบางมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามมาตรการของภาครัฐในการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจปี 2564 ซึ่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ประคองภาวะการครองชีพของครัวเรือน

โดยการสำรวจครั้งนี้ ได้จัดทำขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 ก่อนที่มีข่าวระบุว่า ภาครัฐจะออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ ซึ่งยังคงต้องติดตามรายละเอียดมาตรการของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจและมุมมองของครัวเรือนที่สำรวจในครั้งถัดไปอย่างต่อเนื่อง

 อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo