Finance

ตลท.เผยมาร์เก็ตแคป IPO ปี 63 พุ่ง 5.55 แสนล้านอันดับ 8 ของโลก

ตลท. เผยมาร์เก็ตแคป IPO ปี 63 พุ่ง 555,000 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 8 ของโลก อันดับ 1 ของอาเซียน มูลค่าซื้อขายทะลุ 100,000 ล้านบาท ถึง 22 วัน พร้อมเปิดกลยุทธ์ระยะ 3 ปี

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของหลักทรัพย์ (IPO) 555,000 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 8 ของโลก อันดับ 2 ในเอเชีย และสูงสุดในอาเซียนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดย บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าระดมทุนใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ และมีมูลค่าเสนอขายในกลุ่มค้าปลีกสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

ขณะที่ สภาพคล่องของ ตลท. ครองอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนติดต่อกันตั้งแต่ปี 2555 โดยปี 2563 มีวันที่มูลค่าซื้อขายเกิน 100,000 ล้านบาท ถึง 22 วัน และวันที่ซื้อขายสูงสุดอยู่ที่ 170,000 ล้านบาท และโดยเฉลี่ยมีมูลค่าซื้อขายต่อวัน 67,334.80 ล้านบาท มีจำนวนบัญชีใหม่เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 662,678 บัญชี จากสิ้นปี 2562 สรุปตัวเลขบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์รวม 3.43 ล้านบัญชี

ตลท.

สำหรับการเดินหน้าของ ตลท.ได้กำหนดกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2564-2566) จะพัฒนาสู่ความยั่งยืน 4 ด้าน ประกอบด้วย 8 กลยุทธ์หลัก ดังนี้

1. สร้างการเติบโตในตลาดทุน (Market Growth)

  • การเพิ่มหลักทรัพย์ใหม่ (Boost supply-side opportunities) ส่งเสริมการระดมทุนของธุรกิจใหม่ อาทิ เศรษฐกิจกระแสใหม่ (New economy) หลักทรัพย์ต่างประเทศ บริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) รวมถึงสตาร์ทอัพ (Startups) ในรูปแบบที่เหมาะสมตามความเสี่ยงและประเภทของผู้ร่วมลงทุน ขณะเดียวกัน สนับสนุนการนำข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ
  • การขยายฐานผู้ลงทุน (Rapid investor expansion) มุ่งเน้นการขยายช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงผู้ลงทุนได้กว้างขึ้นและทำให้การลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ ควบคู่กับการตลาดดิจิทัลเพื่อวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลความรู้ บริการ และผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์ ให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ขณะที่จะขยายความน่าสนใจของตลาดทุนไทยไปยังกลุ่มผู้ลงทุนต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการนำเสนอธีมผลิตภัณฑ์และบริการ (Thematic products and services) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนสถาบัน

2. ขยายโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Expansion)

  • การสร้างการมีส่วนร่วม (Building engagement) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริษัทจดทะเบียน และผู้ประกอบการในตลาดทุน ส่งเสริมรายงานด้าน ESG รวมทั้งปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม
  • การต่อยอดธุรกิจใหม่ (Venturing new frontiers) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับตลาดทุนไทย เพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงตลาดทุนโลก และให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ใหม่ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนของผู้ลงทุน

3. ขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อม (Environmental Solutions & Social Development)

  • การปลูกฝังการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG cultivation) ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนนำหลักการ ESG มาบูรณาการในกระบวนการดำเนินงานตามลักษณะการประกอบธุรกิจ เพื่อคงความเป็นผู้นำในภูมิภาคในด้าน ESG พร้อมส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ยังสร้างความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ผ่านโครงการ Care the Bear Care the Whale และ Care the Wild โดยทำงานร่วมกับองค์กรในตลาดทุนและพันธมิตร
  • การเสริมสร้างพลังทางสังคม (Social empowerment) มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางด้านความรู้ทางการเงินของประเทศ โดยพัฒนาทักษะพื้นฐานการบริหารจัดการทางการเงินในชีวิตประจำวันให้กับประชาชน นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับงานวิจัยด้านตลาดทุน พัฒนาศักยภาพและขยายโอกาสสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมผ่าน Social digital platform

4. เพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจและศักยภาพบุคลากร (Continuous Improvement & Talent Empowerment)

  • ความสามารถในการขยายตัวด้านธุรกิจ (Business scalability) ยกระดับระบบซื้อขายหลักทรัพย์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์โดยยึดหลักมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรในการสร้างสรรค์บริการอย่างครบวงจรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและผู้ลงทุน
  • ความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน (Operational excellence) ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดขั้นตอนกระบวนการทำงาน โดยศึกษาการนำ Robotic Process Automation (RPA) มาใช้ ให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงและการสื่อสารในช่วงวิกฤต รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของพนักงาน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานในวิถีชีวิตปกติใหม่

ทั้งนี้ การออกมาตรการกำกับหุ้นที่มีสัดส่วนรายย่อยน้อยกว่าเกณฑ์ (ฟรีโฟลทต่ำ) ที่มีการซื้อขายและราคาเคลื่อนไหวผิดปกติในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ว่า ขณะนี้ ตลท. ยังคงใช้ขั้นตอนตามมาตรฐานที่มีอยู่อย่างเท่าเทียม พร้อมพิจารณามาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติม โดยยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้วิธีการใด หลังจากที่หารือ กับ ก.ล.ต. แล้วจะแจ้งรายละเอียดอีกครั้งและเตรียมเปิดรับฟังความเห็นให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า เกณฑ์ฟรีโฟลทของไทยมีมาตรฐานเดียวกับตลาดต่างประเทศ ซึ่งตลท.มีการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง

ด้านนายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้จะมีสถานการณ์โควิดตั้งแต่ต้นปีก่อน ตลท. ยังรับมือกับภาวะความผันผวนได้ และมีการออกมาตรการต่างๆ เข้ามาดูแลทำให้ตลาดกลับมาสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันยังมีแนวโน้มภาคธุรกิจที่มีความสนใจไอพีโอเข้ามาในปี 2564 แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของข้อมูล ความพร้อมการใช้เงินภาคธุรกิจและสภาพแวดล้อมที่จะเป็นปัจจัยผลักดันด้วย

ทั้งนี้ การเข้ามาระดมทุนของผู้ประกอบการในปีนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านข้อมูลของบริษัทที่จะเข้ามาระดมทุน ความต้องการใช้เงินทุนของบริษัทว่าอยู่ในช่วงไหน และภาวะตลาดหุ้นในช่วงนั้นเป็นอย่างไร

ส่วนเป้าหมายของบริษัทที่จะดึงดูดเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีการส่งเสริมการระดมทุนของธุรกิจใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ตามนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo