COLUMNISTS

ผู้สูงวัย…ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน!!

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
3603

ในปี 2564 ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Completed Aged Society) และพบว่าประชากรผู้สูงอายุชาวไทย มีปัญหาเรื่องสุขภาพที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และบางส่วนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากถึง 5% การบาดเจ็บที่พบบ่อยในผู้สูงอายุอันดับต้น ๆ เลย หนีไม่พ้น “การพลัดตกหกล้ม” !

อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ปีล่าสุด เผยว่า ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2559 – 2562 ที่เพิ่งผ่านมาหยก ๆ นี่เอง มีจำนวนผู้สูงอายุที่บาดเจ็บด้วยสาเหตุการพลัดตกหกล้ม ทั้งหมดถึง 141,895 ราย หรือ เพิ่มมากขึ้นทุกปี คิดเป็น 29.5% จากปี 2559 และถ้าเรามองลึกเข้าไปในรายละเอียด จะเห็นว่า กลุ่มที่มีอายุประมาณ 60 – 65 ปี ตามมาด้วย กลุ่มผู้สูงอายุ 66 – 69 ปี และกลุ่มอายุประมาณ 70 – 75 ปี เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

แต่จุดที่น่าสังเกตคือ พออายุประมาณ ตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไป จะพบว่า เป็นผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย และถ้ามองลึกเฉพาะในปีที่แล้ว คือ ปี 2562 จะเห็นชัดเจนว่า ผู้สูงอายุที่บาดเจ็บด้วยสาเหตุพลัดตกหกล้ม ทั้งหมดถึง 24,364 ราย!

เมื่อเราทราบอย่างนี้แล้ว เราจะเห็นว่า ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และเมื่อเกิดแล้ว ก็อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็น กระดูกข้อมือหัก สะโพกหัก หรือ กระดูกสันหลังหัก หรือเสี่ยงไปถึง เลือดคั่งในสมอง เป็นต้น แน่นอน ไม่มีใครอยากให้เกิดอุบัติเหตุ ผู้สูงอายุในวันนี้ ก็คือ หนุ่มสาวของเมื่อวาน ความเสื่อมของร่างกายค่อย ๆ ทยอยมา

โดยเฉพาะความเสื่อมของตา การมองเห็น นี่ยังไม่นับถึงที่ผู้สูงอายุ มักเกิดความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ แขน และ ขา ทำให้เป็นสาเหตุเพิ่มปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุ พลัดตกหกล้ม ได้บ่อยขึ้นไปอีก และปัญหาที่พบบ่อยของผู้สูงอายุที่ได้รับอุบัติเหตุภายในบ้านคือ กระดูกสะโพกแตกหัก และอุบัติเหตุทางสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีอัตราความพิการ – เสียชีวิตค่อนข้างสูงมากทีเดียว!

bangkok สูงวัยล้มเจ็บทั้งบ้าน 01

ปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุ

โดยแบ่งง่าย ๆ ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ปัจจัยภายใน และ ปัจจัยภายนอก โดยปัจจัยภายใน คือ ปัจจัยในร่างกายของผู้สูงอายุ ส่วนปัจจัยภายนอกคือ สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวผู้สูงอายุ

ปัจจัยเสี่ยงภายในร่างกายของผู้สูงอายุ

  • การเจ็บป่วยและโรคประจำตัว อาจส่งผลให้หกล้มได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมองส่งผลให้แขนขาอ่อนแรง จึงขาดสมดุลในการทรงตัว โรคพาร์กินสัน ที่ทำให้อวัยวะอยู่ในภาวะสั่น เสี่ยงต่อการหกล้มได้มากเช่นกัน
  • การเปลี่ยนแปลงทางสายตา โดยปกติ ผู้สูงอายุ มักมีปัญหาสายตายาว ทำให้การคาดคะเนระยะทางได้ไม่ถูกต้อง หรือในกรณีผู้สูงอายุเป็นต้อกระจก ต้อหิน ฯลฯ ทำให้การมองเห็นไม่ชัด อาจเกิดการหกล้มได้
  • ปัญหาในเรื่องทางเดินปัสสาวะ ถือเป็นปัญหาที่พบบ่อยที่ผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ทำให้เร่งรีบเข้าห้องน้ำ อาจทำให้หกล้มได้
  • ความเสื่อมของกระดูกและเอ็นที่อ่อนแอลง ส่งผลต่อการทรงตัว ทำให้หกล้มง่าย
  • การใช้ยาบางตัว มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม เช่น ยาลดความดัน ยานอนหลับ ยาลดความซึมเศร้า

ปัจจัยเสี่ยงภายนอก หรือ สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวผู้สูงอายุ เช่น สิ่งแวดล้อมภายในบ้านที่ไม่เอื้ออำนวยให้ปลอดภัย เช่น พื้นบ้าน (ปูด้วยหินอ่อน หินแกรนิต เวลาทำน้ำหก แทบแยกไม่ออกส่วนไหนเงาของหิน หรือเงาของผิวน้ำที่หก) แสงสว่างไม่เพียงพอในบ้าน ห้องน้ำ บันได หรือ แม้กระทั่งการเลือกรองเท้าที่ไม่เหมาะสม ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการหกล้ม

ชีวิตผู้สูงอายุในญี่ปุ่น Hyper Aging Society

ถ้าพูดถึงสังคมสูงอายุ ประเทศอันดับต้น ๆ ที่เรานึกถึงก็คือ ประเทศญี่ปุ่น เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ติดอันดับสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ด้วยเพราะประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศแรก ๆ ที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นประเทศแรก ตั้งแต่ปี 2513

ถึงแม้ว่า พวกเราจะทราบว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด หรือที่เรียกว่า Hyper Aging Society แต่ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Aging Society ก็มีการแข่งขันกันสูงมากกว่าทุกประเทศด้วยเช่นกัน เมื่อปีที่แล้ว (ก่อนวิกฤต โควิท 19) ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเดินดูงาน H.C.R. 2019 International Home Care & Rehabilitation Exhibition ถือเป็นงาน Aging Society ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จัดงานใน Tokyo Big Sight

อยากจะเล่าแบบชาวบ้านเลยว่า นวัตกรรมสินค้าที่วางโชว์อยู่ในงาน ล้วนแล้วแต่เป็นการ “ป้องกัน” เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ “ภายหลังเกิดอุบัติเหตุ” ไม่ว่าจะเป็น เตียงไฟฟ้าแบบแยกชิ้นผู้ป่วยนอนได้ เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง ไปยังโรงพยาบาล, รถเข็นคนไข้ แบบปรับระดับได้ชนิดที่เบาที่สุดเพียง 2 กก., เข็มขัดกลช่วยพยุงแผ่นหลัง และหน้าขา ขณะเดินเพื่อป้องกันการหกล้มจากกล้ามเนื้อขา-หลัง อ่อนแรงขณะเดิน

อุปกรณ์กันลื่น ตัวจับในห้องน้ำ, ไม้เท้าไทเทเนี่ยม, เก้าอี้ที่ดีไซน์เป็นโถชักโครก สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเดิน และอื่น ๆ อีกมากมาย เออ ยังมี รถเก๋งแปลงส่วนที่นั่งให้โล่ง เพื่อรองรับรถเข็นไฟฟ้า เข็นขึ้นรถได้สะดวก ถือว่าเป็นงานที่เปิดโลกอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุแบบ 360 องศา เลยทีเดียว กลุ่มคนที่เดินในงาน แน่นอน เป็นกลุ่มคนผู้สูงอายุ (ที่ยังเดินได้ดี) และกลุ่มคนที่เป็นผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็นไฟฟ้า (บังคับเองได้) มาเดินดูของ และอีกกลุ่มหนึ่งที่สังเกต คือ กลุ่มคนที่ทุพลภาพจริง ๆ ที่ลูกหลานเข็นมาเพื่อชม นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเหมาะกับผู้สูงอายุในบ้านตนเอง

ผู้สูงอายุ ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน

ถือเป็นบุคคลที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นกรณีพิเศษ เพราะด้วยวัยที่มากขึ้น ทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นตาที่เริ่มพร่ามัว หูที่ได้ยินไม่ชัด รวมถึงความทรงตัวที่ดูจะน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น เป็นเหตุให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย และแน่นอน เมื่อผู้สูงอายุเกิดหกล้มแล้ว จะส่งกระทบต่อคนในครอบครัวเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ดังคำกล่าวที่ว่า “ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน” และเมื่อผู้สูงอายุหกล้มแล้ว แน่นอน ไม่เหมือนเดิม และต้องใช้เวลาพักฟื้นค่อนข้างนาน บางรายถึงกับต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิตที่เหลือ สร้างความทุกข์ใจกับผู้สูงอายุนั้น ๆ

ทีนี้ เมื่อเราทราบถึงอันตรายที่เกิดขึ้นในกรณีผู้สูงอายุหกล้ม เรามาดูวิธีป้องกัน พร้อมกันเลยค่ะ :-

  • หาอุปกรณ์ช่วยเวลาเดินสำหรับผู้สูงอายุ แน่นอน ในวัยนี้ การทรงตัวย่อมจะไม่แน่น แข็งแรงเหมือนวัยหนุ่มสาว ดังนั้นเวลาเดิน แนะนะควรมีตัวช่วยในการทรงตัว เพื่อป้องกันการหกล้ม ไม่ว่าจะเป็น ไม้เท้าสามขา วอลค์เกอร์ (ไม้เท้าสี่ขา) ไม้ค้ำยัน ต่าง ๆ และแนะนำควรเลือกให้เหมาะสมกับความสูง (ปรับขนาดต้องไม่ยาวหรือสั้นเกินไป) เพราะถ้าปรับขนาดไม่พอดีกับความสูง แทนที่จะป้องกันหกล้ม กับกลายเป็นเหตุให้หกล้ม ก็เป็นได้
  • หมั่นสังเกตอาการผิดปกติด้านการรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นอาการสับสน ความหลงลืม ของวันเวลาต่าง ๆ ชื่อเพื่อน ชื่อลูกหลาน หรือ สมาชิกครอบครัว รวมถึงการทำการตัดสินใจช้าลง ตอบสนองต่อการรับรู้ช้า นั่นเอง
  • หมั่นสังเกตผิดปกติการเดิน การเดิน การทรงตัวในการเดิน เพราะผู้สูงอายุมีกลไกการทำงานที่จะควบคุมการทรงตัวลดลง ทำให้บางที ยืนเฉย ๆ อาจเซ ได้ เรียกว่า เด็กวิ่งชน สามารถทำให้ท่านล้มได้เลย
  • จัดอุปกรณ์ภายในบ้านเพื่อเอื้อต่อผู้สูงอายุ
  • ทางลาดในบ้าน ควรจะมีเพื่อผ่อนแรงผู้สูงอายุในกรณีที่ต้องใช้ Wheel Chair (เก้าอี้รถเข็นผู้ป่วย) ควรทำทางลาดไว้ตามบันไดต่าง ๆ ความชันไม่ควรเกิน 5 องศา และมีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 ซม. และมีความลาดยาว ต้องไม่เกิน 5 เมตร
  • ขนาดเตียงต้องเหมาะสม ควรจัดให้นอนบนเตียงที่มีความยาวไม่น้อยกว่า 180 ซม. สูงประมาณ 40 ซม.
  • ต้องเพิ่มราวจับ เพิ่มราวจับบริเวณทางเดินรอบบ้าน ในห้องน้ำ การติดตั้งราวจับ ควรเน้นให้มีลักษณะสั้น – ยาว หรือเป็นรูปตัวซี ได้เลยค่ะ ติดตั้งที่ผนังห้องน้ำ ทางเดินลาด ทางเดินในบ้าน ห้องครัว และออกแบบติดตั้งไว้สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 ซม.
  • ต้องเพิ่มแรงเสียดทานให้พื้น แน่นอน เพื่อระวังการหกล้ม พื้นต้องพื้นแรงเสียดทาน เช่น ติดแผ่นกันลื่น เป็นแถบยางกันลื่น หรือ วัสดุไม้สังเคราะห์ หรือถ้าเป็นกระเบื้อง ควรเป็นกระเบื้อง ลวดลายกันลื่นโดยเฉพาะ ที่ปัจจุบัน มีหลายแบรนด์ หลายลวดลายให้เลือก เพื่อความสวยงามด้วย
  • หมั่นสังเกตอาการของการมองเห็น สังเกตอาการ หรือสิ่งผิดปกติของการมองเห็น เช่น ตาพร่า มัว บอกระยะห่างชัดเจนไม่ได้ และการที่ไม่สามารถแยกความต่างของสีได้ เหล่านี้ ควรต้องสังเกต เพื่อปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไข

อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สาเหตุสำคัญของการพลัดตกหกล้ม คือ ตัวผู้สูงอายุเองมีความเสื่อมของร่างกาย ให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ลดลง ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา อย่าตื่นตกใจ ให้ตั้งสติให้ดี จากนั้นให้ประเมินการบาดเจ็บ หากไม่สามารถขยับหรือลุกได้ ให้ท่านนอนในท่าที่สบาย อย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อป้องกันกระดูกอาจหักไปทำลายเนื้อเยื่อ หลอดเลือด ฯลฯ และให้รีบโทร.สายด่วนไปยังโรงพยาบาล เพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน

(เครดิต : Medication – Related Falls in Older People, www.link.springer.com, National Council on Aging, ncoa.org/news/resources-for-reporters/get-the-facts/falls-prevention-facts/, www.i-kinn.com, สพฉ.)