Business

ปั้นดิจิทัลแพลตฟอร์มไทยหนุนผู้ผลิตคอนเทนท์

การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล เป็นปัจจัยสำคัญผลักดันองค์กรสื่อ ให้ต้อง “ปรับตัว” และบทบาทการทำหน้าที่ ตอบโจทย์สังคมและพฤติกรรมผู้เสพสื่อ เช่นเดียวกับ “อสมท” องค์กรสื่อที่มีอายุครบรอบ 66 ปี ที่ก้าวสู่ยุคดิจิทัล ในบทบาท “หุ้นส่วนสังคมไทย”

อสมท 66 ปี เสวนา “เจาะอนาคต ตอบโจทย์ประเทศไทย”
อสมท 66 ปี เสวนา “เจาะอนาคต ตอบโจทย์ประเทศไทย”

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการทำงานของ อสมท ในฐานะ “หุ้นส่วนสังคมไทย” จาก “พาร์ทเนอร์ชิป” และ “เอ็นเกจเม้นต์”   ปัจจุบันองค์กรรัฐ บางแห่งบอกว่ารับใช้สังคมไทย บางแห่งบอกว่าเคียงข้างประชาชน

แต่ อสมท ที่เป็นรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองว่าคนที่จะทำงานกับคนอื่นได้ จะต้องเป็น “พาร์ทเนอร์ชิป”  หรือหุ้นส่วน ที่สามารถลงเรือลำเดียวกันได้  เพราะองค์กรอยู่ในสังคมคนเดียวไม่ได้

เมื่อโลกเปลี่ยนไปจากการพัฒนาเทคโนโลยี  องค์กรจะต้องเชื่อมต่อกัน หรือ เอ็นเกจเม้นต์ ผ่านโลกดิจิทัล ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา

“การเป็นหุ้นส่วนสังคมไทย ที่ต้องอยู่ร่วมกัน  อสมท ในฐานะองค์กรสื่อ ต้องชี้นำสังคม กลั่นกรองข้อมูลในโลกออนไลน์ นำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์กับสังคม”

ตลอดการทำงานที่ผ่านมาของ อสมท  ได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์มาตลอด  มาถึงปี 2557 ที่มี ทีวีดิจิทัล   ทำให้พาร์ทเนอร์บางส่วนแยกย้ายจาก อสมท เพราะมีช่องทีวีดิจิทัลของตัวเอง ขณะที่ อสมท  มุ่งผลิตคอนเทนท์และพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะผลิตสื่อและคอนเทนท์ครบทุกช่องทาง

“เชื่อว่า ทีวีดิจิทัล ยังไปต่อได้ แต่เมื่อมีช่องจำนวนมาก แต่ละช่องต้องมีจุดต่าง สร้างสรรค์งานที่ตอบโจทย์ผู้ชม ในทุกช่องทางการเสพคอนเทนท์  ทีวีดิจิทัล ต้องมีบิซิเนส ครีเอทีฟ และคนที่เข้าใจงานสร้างสรรค์”

คอนเทนท์ออนไลน์-ออฟไลน์ต้อง‘แตกต่าง’

ในโอกาสครบรอบการสถาปนา 66 ปี “อสมท” ได้จัดเสวนา “เจาะอนาคต ตอบโจทย์ประเทศไทย” ผ่านมุมมองของผู้มีประสบการณ์ในวงการสื่อ คือ สุทธิชัย หยุ่น  และ วีระ ธีรภัทร ต่อมุมมองอนาคตสื่อไทยในยุคดิจิทัล

สุทธิชัย หยุ่น-วีระ ธีรภัทร
อสมท 66 ปี จัดเสวนา “เจาะอนาคต ตอบโจทย์ประเทศไทย”

วีระ กล่าวว่าอนาคตสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ สื่อดั้งเดิม หรือออนไลน์  เชื่อว่า “ไม่ตาย” ตราบใดที่คนยังต้องการข้อมูลข่าวสาร แต่จะเสพในรูปแบบใดเท่านั้น  ปัจจุบันมหาอำนาจ “สื่อ” อยู่ในมือแพลตฟอร์มระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น แอปเปิล กูเกิล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ที่กลายเป็นผู้กำหนดทิศทางข้อมูลข่าวสาร โดยที่สื่อในประเทศไทย “ไม่รู้ตัว”

ที่ผ่านมาจึงเห็น “สื่อไทย” พยายามจะ “อพยพ”  ตัวเองไปเป็นออนไลน์  แต่ออฟไลน์ ก็ยังจำเป็น!!  ยกตัวอย่างในต่างประเทศ สื่อหนังสือพิมพ์ ที่อยู่รอดได้  อย่างน้อย  2 ฉบับ คือ  วอลล์สตรีท เจอร์นัล  และ นิวยอร์ก ไทม์ส   ซึ่งทำได้ดีทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์  เนื่องจากมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องเสพข้อมูลทั้ง 2 แพลตฟอร์ม

ขณะที่สื่อออนไลน์ ของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย ที่ทำอยู่ในขณะที่  นำเสนอคอนเทนท์เหมือนกัน ทำให้วันรุ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะเป็นเนื้อหาเดียวกัน หากเป็นแบบนี้สื่อสิ่งพิมพ์จะไปต่อลำบาก เช่นเดียวกับข่าวทีวี หากเนื้อหาเหมือนออนไลน์ ก็ไม่จำเป็นต้องดูข่าวทีวีอีก  ดังนั้นการจะดึงผู้ชมมาเสพข้อมูลในแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะต้องมีคอนเทนท์ที่ตอบโจทย์ความสนใจ และแตกต่างจากสื่ออื่นๆ

วันนี้ไม่ใช่เพียงข้อมูลเชิงลึกอย่างเดียว แต่การนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เป็นเรื่องที่ต้องออกแบบให้ตอบโจทย์พฤติกรรมคนดู คนฟัง คนอ่าน

ขณะเดียวกันกลุ่มที่เกิดจากออนไลน์ 100%  ถ้าไม่มีออฟไลน์  บอกกล่าวสื่อสารเกี่ยวกับสื่อออนไลน์  ก็ลำบากเช่นกัน

 ปัญหาคอนเทนท์ซ้ำฉุดสื่อไทย

สำหรับมุมมองต่ออนาคตสื่อไทย  วีระ มองว่าในฝั่งคนทำสื่อวัยเกษียณ อายุมากกว่า 60 ปี คงต้องบอกว่าไม่มีอนาคตแล้ว แต่คิดว่าองค์กร ฮาร์ดแวร์ และแพลตฟอร์ม ยังอยู่ได้  แต่ต้องเลือกผู้เสพว่าต้องการเข้าถึงกลุ่มใด และใครที่เหมาะกับสื่อแต่ละประเภท จึงจะอยู่ได้ แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะลำบาก

วีระ ธีรภัทร
วีระ ธีรภัทร

“ผมเคยอ่านหนังสือพิมพ์ วันละ 8 ฉบับ รวมหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ 2 ฉบับ ปัจจุบันอ่าน 3 ฉบับ  ซึ่งข่าวเหมือนกัน 70% ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาของสื่อไทย เพราะมาจากคนเขียนคนเดียวกัน  โดยรู้ได้จากบางข่าวมีคำผิด หลายสื่อก็ยังผิดเหมือนกัน จุดเดียวกัน  ทั้ง ทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ ผิดเหมือนกัน”

ถือเป็นยุคตกต่ำสุด เมื่อไหร่ที่ไม่มีความเป็นเลิศในวิชาชีพ ก็ถือว่าจบ!

ปีหน้าคาดว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์เหลือ 2 ฉบับ  สถานการณ์ที่ผู้อ่านลดลง  ทำให้ยอดขายหนังสือพิมพ์ตก ส่งผลให้แผงหนังสืออยู่ไม่ได้ เมื่อไม่มีแผงหนังสือ สายส่งหรือเอเย่นต์ก็ต้องปิดตัว

ใช้ประโยชน์ “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม”

วีระ มองว่าในยุคที่แพลตฟอร์มเปิดกว้าง มีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน นำเสนอคอนเทนท์แต่ละด้านผ่านสื่อออนไลน์ได้อย่างลึกซึ้งและน่าสนใจ

“ผมเป็นคนต่อต้านเทคโนโลยี  เพราะเริ่มต้นเขียนบทความหนังสือพิมพ์ ใช้วิธีไปส่งต้นฉบับด้วยตัวเอง จากนั้นมายุคเขียนกระดาษส่งแฟกซ์ ในช่วงนั้นคนอื่นเขียนงานผ่านคอมพิวเตอร์และส่งอีเมล กระทั่งต้องมาเปลี่ยนเป็นเขียนทางคอมพิวเตอร์ในช่วงหลัง เพราะเกรงว่าคนจะพิมพ์งานให้ผิด”

ในยุคที่สื่อโซเชียล มีบทบาท ได้ปรับตัวด้วยการเลือกใช้ “ไลน์” นำเสนอบทความ ผ่าน ไลน์ แอคเคาน์  โดยไม่เลือกไม่ใช้เฟซบุ๊ก เพราะสร้างรายได้น้อยกว่า  และนำบทความที่ค้นคว้านำเสนอผ่านไลน์กรุ๊ป มารวมเป็นหนังสือ จำหน่ายเอง  โดยไม่ขายผ่านสายส่ง และร้านหนังสือ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงและไม่คุ้ม

 เชื่อว่าในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท  ทุกคนจะไปรอดได้ แต่ต้องเรียนรู้ หากไม่รู้ ก็ต้องเรียน

 สื่ออยู่รอด“คอนเทนท์”ต้องแตกต่าง

ทางด้าน สุทธิชัย  มองว่าในยุคนี้ สื่อที่มีเนื้อหาเป็นของตัวเองและแตกต่าง หาจากที่ไหนไม่ได้ “จะไม่ตาย” ไม่ว่าเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มจะเปลี่ยนไปอย่างไร  และต้องปรับตัวใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โซเชียล มีเดีย

สุทธิชัย หยุ่น
สุทธิชัย หยุ่น

“คุณวีระ เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำคอนเทนท์ ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และอีเวนท์  เพราะมีคอนเทนท์เป็นของตัวเอง แม้ช่วงแรกจะต่อต้านเทคโนโลยี แต่ก็เห็นโอกาสด้วยเช่นกัน โดยเริ่มนำบทความ ส่งผ่านแพลตฟอร์มไลน์ ทั้ง ไลน์ แอคเคาน์ และไลน์กรุ๊ป ที่จะมีเนื้อหาต่างกัน และเป็นคอนเทนท์เฉพาะ ที่สามารถสร้างฐานผู้อ่านให้มาติดตามได้จำนวนมากและสูงกว่าคนอ่านหนังสือพิมพ์  อีกทั้งยังเรียกเก็บเงินจากการอ่านบทความได้”

เช่นเดียวกับการปรับตัวของ หนังสือพิมพ์ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล และนิวยอกร์ก ไทม์ส  ที่ผู้อ่านต้องจ่ายเงินสำหรับคอนเทนท์พิเศษ และไม่สามารถหาอ่านจากที่อื่นได้  ซึ่งรายได้จากสมาชิกจ่ายเงินสูงกว่ารายได้โฆษณา ซึ่งถือเป็นตัวอย่างทางรอดของสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคนี้

“การปรับตัวของผู้ผลิตคอนเทนท์และสื่อ  ต้องไม่เป็นทาสเทคโนโลยี แต่ต้องใช้เทคโนโลยี  ให้เป็นประโยชน์ที่สุด”

ประเทศไทยต้องสร้าง “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม”

สุทธิชัย มองว่า ประเทศไทย โดยกระทรวงดีอี ควรขับเคลื่อนเรื่องสร้าง “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ในประเทศเป็นของตัวเอง เพื่อเป็นอีกช่องทางสำหรับคนทำคอนเทนท์ดี ๆ ได้มีโอกาสสร้างรายได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศเท่านั้น   ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปสื่อชุดนี้ คือ การสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม ของประเทศไทย เหมือนประเทศจีน ที่มีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง

มองว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะทางเทคนิคและการลงทุนต่างๆ ประเทศไทยมีความพร้อม  แต่อยู่ที่ความกล้าหาญระดับนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น ที่ต้องให้ความสำคัญเหมือนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เดียวกับการสร้างถนน สนามบิน  ซึ่ง “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ถือเป็นอินฟราสตรัคเจอร์ รูปแบบหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน  เพราะถือเป็นการสร้างอิสรภาพทางคอนเทนท์ที่คนไทยสร้าง ให้มีช่องทางเผยแพร่ในโลกออนไลน์ เพื่อไม่ให้แพลตฟอร์มต่างประเทศเข้ามายึดครองทั้งหมด

 

Avatar photo