COVID-19

‘พุทธิพงษ์’ แจงเหตุไม่รวม ‘หมอชนะ-ไทยชนะ’ ลั่น ข้อมูลส่วนตัวไม่รั่วแน่นอน

“พุทธิพงษ์” ย้ำ ไม่โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ไม่ผิดกฎหมาย ยัน ข้อมูลส่วนบุคคล ของประชาชน ไม่รั่วไหล อย่างแน่นอน โต้ดูดเสียงผ่านไมโครโฟน

วันนี้ (8 ม.ค.) นาย พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงความสับสนของประชาชนในการโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และข้อกังวลเรื่องของมูลส่วนบุคคล

พุทธิพงษ์

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า การรณรงค์ให้ใช้แอพลิเคชั่นหมอชนะ เพื่อช่วยให้สะดวกในการติดตามบุคคล และควบคุมการแพร่เชื้อของโรคที่ไปกับบุคคล โดยหลักการออกแบบแอปลิเคชันดังกล่าว มีแนวคิดเพื่อการติดตาม และระมัดระวังเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ์ของใคร ส่วนข้อกังวลต่าง ๆ ขอชี้แจง 3 เรื่อง

เรื่องแรก คือ ความปลอดภัยของบุคคล ยืนยันว่า มีความปลอดภัย เพราะเมื่อโหลดไปแล้ว จะไม่ปรากฏชื่อ และนามสกุลของบุคคลนั้น แต่จะเป็นรหัสตัวเลขระบบคอมพิวเตอร์ เช่น 111 ดังนั้นเวลาเข้าไปดูจะไม่รู้ว่าเป็นใคร

ผู้ที่จะเข้าไปดูข้อมูลได้ จะกลุ่มสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่จะสามารถย้อนหลังไปได้ประมาณ 14 วัน ว่า หมายเลขนี้ไปพบกับใครบ้าง หากพบความเสี่ยง จะส่งสัญญาณเตือนไปที่เจ้าของหมายเลขนั้น ๆ

พุทธิพงษ์

ส่วนเรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับไทม์ไลน์ ที่ไม่อยากบอกคนอื่น การโหลดแอปจะทำให้ไม่ต้องบอกไทม์ไลน์ให้คนอื่นรู้ เพราะระบบสามารถตรวจสอบเองว่าคนที่ติด 1 คนได้ไปสัมผัสกับใครบ้างที่ดาวน์โหลด  ดังนั้น สบายใจได้ว่า ถ้ามีปัญหามีความเสี่ยง หรือติดเชื้อ จะได้ไม่ต้องมานั่งนึกไทม์ไลน์

เรื่องการถ่ายรูป เพื่อยืนยันตัวตน ที่มีบางคนกังวลว่า อาจจะไม่ปลอดภัย และรูปถ่ายจะถูกนำไปเก็บในข้อมูลของรัฐบาลนั้น  ยืนยันว่า การถ่ายรูปในแอปพลิเคชันเป็นแค่การถ่ายรูปและเก็บไว้ในมือถือของบุคคลนั้น ๆ ไม่ได้นำมาเก็บไว้เป็นข้อมูลส่วนกลาง และจำเป็นต้องถ่ายรูป เพื่อยืนยันตัวตนในกรณีที่จะเดินทางข้ามจังหวัด สามารถแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่จุดตรวจได้

สำหรับเรื่อง ที่วิตกว่า แอปพลิเคชัน หมอชนะ จะถูกติดตามไมโครโฟน เวลาพูดอะไรออกไปแล้วจะดูดเสียงเก็บไว้เพื่อเอาข้อมูล ยืนยันไม่เป็นความจริง แอปพลิเคชันหมอชนะ ปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ใช้ ท่ามกลางการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เพื่อให้หมอ พยาบาล เฝ้าติดตามข้อมูล และป้องกันการติดต่อของเชื้อที่จะไปกับประชาชนที่เดินทางสามารถทำได้เร็วขึ้น และจำกัดการแพร่ตัวของโรคได้

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า แอปพลิเคชันดังกล่าว เป็นการขอความร่วมมือให้ดาวน์โหลด แต่ถ้าไม่ดาวน์โหลดก็ไม่ผิดกฎหมาย  แต่ขอความร่วมมือเพราะคนที่ดาวน์โหลดก็จะได้ประโยชน์แก่ตัวเอง เวลาไปไหนผ่านไปแล้ว 7 หรือ 10 วัน อาจจะไม่รู้ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ก็ย้อนไปดูได้ ส่วนคนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือระบบที่จะโหลดได้ ก็ให้เข้าระบบปกติ คือการบันทึกเอกสาร

unnamed removebg preview

กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำเอกสาร ให้กรอกข้อมูล เมื่อโหลด และ กรอกข้อมูลเบื้องต้น เพื่อแสดงสถานะ จะถือว่า ทุกคนมีความเสี่ยงต่ำ  เพราะระบบติดตามจะเริ่ม เมื่อโหลด แอปพลิเคชัน และติดตั้งเรียบร้อยแล้ว

หลังจากนั้นเมื่อเดินทาง และไปอยู่ใกล้ บุคคลที่มีความเสี่ยง ไทม์ไลน์ก็จะเริ่มขึ้น ขอยืนยันว่า ข้อมูลทั้งหมดปลอดภัย เป็นประโยชน์ต่อการติดตามควบคุม และสอดส่องโรค

ส่วนสาเหตุที่ไม่รวมแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” กับ “หมอชนะ” ไว้ด้วยกันนั้น นายพุทธิพงษ์ อธิบายว่า เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน เพราะทั้ง 2 แอป มีระบบการทำงาน ไม่เหมือนกัน

การใช้แอปพลิเคชัน ไทยชนะ เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ของประเทศไทย ผ่อนคลายลงมาก และรูปแบบเป็นการเช็คอิน เช็คเอาท์ ถ้าพบว่า มีใครติดเชื้อ ต้องมานั่งดูว่า มีใครอยู่ในเวลาใกล้เคียงกัน แล้วโทรไปแจ้ง

แต่ในปัจจุบัน การแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างมาก มีการเดินทางไปในที่ต่างๆ ซึ่ง ระบบของหมอชนะ ที่ติดตามโดย จีพีเอส และ บลูทูธ จะทำได้ดีกว่า แต่ถ้าจะใช้ทั้ง 2 แอปพลิเคชัน ก็ได้ ซึ่งแอปพลิเคชัน ทั้ง 2 ตัวแตกต่าง กันที่ระบบการทำงาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo