COLUMNISTS

อย่าเอากฎของนิวตัน มาใช้ในที่ทำงาน

Avatar photo
Consulting Partner สลิงชอท กรุ๊ป
1863

เซอร์ไอแซค นิวตัน บอกว่า แรงเฉื่อย คือ ความพยายามของวัตถุในการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่และไปในทิศทางเดิม รวมถึงวัตถุที่ไม่เคลื่อนที่ก็จะรักษาสภาพหยุดนิ่งเอาไว้จนกว่าจะมีแรงผลักที่มากพอ มาทำให้มันเคลื่อนที่ไปได้

พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ฉัน (วัตถุ) จะไม่วิ่งให้เร็วขึ้น ฉันจะไม่เปลี่ยนเส้นทางวิ่ง และถ้าเป็นไปได้ฉันอยากอยู่นิ่งๆ ตรงนี้แหละ

ในทางฟิสิกส์ แรงเฉื่อยมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะที่โลกหมุนได้ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งต้องอาศัยแรงเฉื่อยในการเคลื่อนที่ หากโลกไม่หมุน ก็ไม่มีกลางวันและกลางคืน ซีกหนึ่งของโลกก็จะร้อน ขณะที่อีกซีกโลกก็จะหนาวเย็น และสิ่งมีชีวิตบนโลกก็จะอยู่ไม่ได้

ซึ่งไม่เหมือนกับการบริหารจัดการองค์กร ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากคนในองค์กรใช้กฎการเคลื่อนที่ของนิวตันเป็นหลักในการทำงาน พนักงานจะพยายามทำงานด้วยความเร็วคงที่ พนักงานจะพยายามทำงานแบบเดิม ๆ และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ พนักงานจะรู้สึกยินดีที่จะหยุดนิ่ง ไม่พัฒนางาน ไม่พัฒนาตนเอง และสุดท้ายก็จะทำให้องค์กรไม่พัฒนาตามไปด้วย

ดังนั้นเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์กรย่ำอยู่กับที่และแข่งขันกันคนอื่นไม่ได้ คือ แรงเฉื่อยที่เกาะติดอยู่ในตัวของพนักงาน และฝังอยู่ในวัฒนธรรมองค์กร

หากท่านเป็นเจ้าของธุรกิจไม่ว่าจะไซด์เล็กหรือไซด์ใหญ่ ควรต้องหมั่นเช็ค “สัญญาณเฉื่อย” ในองค์กรเป็นระยะๆ ถ้าพบสัญญาณดังต่อไปนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น ท่านต้องหยุดมันทันที

สัญญาณเฉื่อยในองค์กร

  1. คนในองค์กรใช้เวลาส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องอดีตและปัจจุบัน จนไม่มีใครคิดจะพูดเรื่องในอนาคต ไม่มีใครสนใจว่าองค์กรจะเดินไปทิศทางไหนในวันข้างหน้า
  2. คนในองค์กรชอบพูดถึงปัญหามากกว่าหาทางออก คนส่วนใหญ่สนุกกับการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาอย่างเมามันจนทำให้ปัญหาเล็กกลายเป็นปัญหาใหญ่ แต่ไม่มีใครเลยที่จะคิดเสนอทางแนวทางแก้ไข
  3. การประชุมใช้เวลายาวนานขึ้น แต่ผลลัพธ์จากการประชุมไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้ผู้เข้าประชุมไม่เห็นประโยชน์ เพราะรู้สึกไม่แตกต่างระหว่างการมาประชุมกับการขาดประชุม
  4. การประเมินผลการปฏิบัติงานไม่ตรงจุด ไม่ตั้งวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน มองโลกในแง่ดีเกินไป ตั้งเป้าง่าย ใช้ความรู้สึกของผู้ประเมินมากเกินไป ขาดการกำหนดตัวชี้วัดเชิงพฤติกรรม
  5. คนที่เคยแอคทีฟเริ่มออกอาการเบื่อ โดยเฉพาะบุคลากรที่เป็นคนสำคัญในแต่ละหน่วยงาน รู้สึกว่างานไม่ท้าทาย ไม่ตื่นเต้นเหมือนเมื่อก่อน ไม่รู้สึกภูมิใจเมื่อทำงานสำเร็จ พอทำงานเสร็จแล้วจบ ไม่อยากจะช่วยเหลือใคร แต่กลับมองหาความท้าทายนอกองค์กร และอาจต้องสูญเสียคนกลุ่มนี้ไปในที่สุด

ถ้าไม่อยากให้องค์กรของเราหลุดวงโคจรแห่งโลกยุคดิจิทัล ก็จงอย่ายอมให้บุคลากรเอากฎของนิวตันมาใช้ในที่ทำงาน เพราะคนกับวัตถุไม่เหมือนกัน ไม่งั้นแรงเฉื่อยในองค์กรระบาดหนักแน่