Economics

กกร.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 1.5-3.5% แนะขยาย ‘คนละครึ่ง’ เป็น 5 พันบาท

“กกร.” ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นขยายตัว 1.5-3.5% ขณะที่การส่งออกคาดขยายตัว 3-5% แนะรัฐขยายวงเงินคนละครึ่งจาก 3,500 บาทเป็น 5 พันบาท

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2564 เป็นขยายตัว 1.5-3.5% จากเดิมคาด 2-4% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 3-5% จากเดิมคาด 4-6% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 0.8-1%

ทั้งนี้ เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงไทยด้วย โดยมีปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศรอบใหม่ โดยสมมติฐานในการประเมินจีดีพีครั้งนี้ คาดว่าโควิด-19 รอบใหม่จะจบได้ภายใน 3 เดือนนี้ รวมถึงจะมีเม็ดเงินกระตุ้นจากรัฐบาลเข้ามาเติมอีกประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการที่จะออกมาช่วยนั้น ควรที่จะเป็นมาตรการที่ตรงจุด และถูกฝาถูกตัว

กกร.61641

ส่วนสถานการณ์การส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ คาดว่า จะยังติดลบ เนื่องจากยังประสบปัญหากับการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงหลายประเทศมีการระบาดรอบใหม่ หรือรอบสอง มีการประกาศล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในฝั่งทางยุโรป จึงทำให้การบริโภคหยุดชะงัก

ทั้งนี้ กกร. คาดว่า การส่งออกจะเริ่มกลับมาขยายตัวได้ในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้ จากการมีวัคซีนใช้ได้ ซึ่งจะทำให้การบริโภคกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐที่จะต้องเร่งดำเนินการ 4 ด้าน เพื่อควบคุมการระบาดของโรค และช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่

1. ต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาดและบังคับใช้มาตรการต่างๆที่ประกาศออกมาอย่างเคร่งครัด ควรจะ focus แม่นยำ ตรงจุด ถึงต้นตอการแพร่กระจายทั้งนี้ขอให้ควบคุมดูแลที่อยู่ของคนงานต่างด้าวให้เหมาะสมเพื่อระงับการแพร่ระบาด

รวมถึงเร่งจับผู้กระทำผิดทั้งบ่อนการพนัน และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าของประเทศว่าปัญหาการแพร่ระบาดส่วนใหญ่มาจากคนสู่คน ไม่ใช่จากอาหารหรือสินค้าสู่คน

2. ขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเรื่องงบประมาณช่วยเหลือ 2 แสนล้านบาท โดยให้กำหนดวิธีการให้ชัดเจนปฏิบัติได้เร็วและให้ส่งผลได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะมีความเห็นว่าจะสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ซึ่งอาจเป็นการต่ออายุโครงการคนละครึ่งและเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายต่อบุคคลเป็น 5,000 บาท มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น ลดค่าไฟ 5%รวมถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินอย่าง Asset Warehousing และ บสย. อย่างมีประสิทธิภาพ

3. เร่งรัดเรื่องวัคซีนให้สามารถได้มาตามกำหนดเวลาและมีปริมาณที่เพียงพอรวมถึงกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์ในการกระจาย การขนส่ง และฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดลำดับผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อนหลังอย่างเหมาะสม

4. เร่งรัดการใช้และการเจรจาการค้าทวิภาคี รวมถึงการให้สัตยาบันลงนามข้อตกลง RCEP ในการประชุมรัฐสภา เพื่อให้ข้อตกลงที่ลงนามไปเมื่อเดือน พ.ย. 63 มีผลบังคับใช้กลางปีนี้ เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo