Economics

ครม. เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน คาดรายได้ลดลง 10%

ครม. เห็นชอบ งบประมาณรายจ่ายปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน คาดจัดเก็บรายได้ลดลง 10% กู้ชดเชยขาดดุล 7 แสนล้าน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันนี้ (5 ม.ค. 64) ว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ปรับลดลงจากปีงบประมาณ 2564 จำนวน 1.85 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.66%

ครม. ปีงบประมาณ 2565

วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2,354,403.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75.95% ของวงเงินงบประมาณ, รายจ่ายลงทุนจำนวน 620,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20%, รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้จำนวน 100,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.22%, รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 25,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.81% และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.02%

รายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ในปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ลดลงจาก 277,000 ล้านบาท หรือลดลง 10.35% ส่งผลให้งบประมาณขาดดุล 700,000 ล้านบาท

“งบประมาณที่จัดสรรเป็นงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2565 เป็นงบประมาณที่ต้องใช้วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลอยู่ที่ประมาณ 7 แสนล้านบาท” นายอนุชากล่าว

shutterstock 1245206278

นอกจากนี้ มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตและความเห็นของที่ประชุม 4 หน่วยงาน เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังนี้

1.การลงทุนของประเทศในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ควรพิจารณาให้ครอบคลุมการลงทุนจากทุกแหล่งเงิน ประกอบด้วย การลงทุนจากเงินงบประมาณของภาครัฐ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และการลงทุนโดยใช้เงินจากกองทุน เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) และการลงทุนจากต่างประเทศ

2.ควรมีการกำหนดเงื่อนไขของการใช้ง่ายเงินงบประมาณ โดยเฉพาะการใช้จ่ายที่มีลักษณะเป็นการโอนเงินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เช่น การให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่ากับผู้ถูกเลิกจ้างหรือผู้ที่อยู่ระหว่างหางานทำ ควรมีการกำหนดเงื่อนไขให้มีการฝึกอบรมทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ถูกเลิกจ้างในการหางานทำต่อไป และทำให้การใช้ง่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3.เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพของประเทศและความยั่งยืนในระยะต่อไปตามแผนการคลังระยะปานกลาง จึงเห็นควรให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนมากขึ้น และชะลอรายจ่ายประจำที่สามารถดำเนินการได้

“ตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 กำหนดให้หน่วยงานจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณส่งให้ สำนักงบประมาณภายในวันที่ 15 มกราคมนี้ จากนั้นจะเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบรายละเอียด พร้อมแนวทางปรับปรุงอีกครั้งภายในวันที่ 16 มีนาคม 2564” นายอนุชากล่าว

shutterstock 1852775926 e1606713730495

สาระสำคัญ งบประมาณรายจ่ายปี 65

สมมติฐานทางเศรษฐกิจ

  • อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Real GDP) 3.0 – 4.0%
  • อัตราเงินเฟ้อ (GDP Deflator) 0.7 – 1.7%

วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

1.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 185,962.5 ล้านบาท หรือลดลง 5.66% ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้

  • รายจ่ายประจำ จำนวน 2,354,403.3 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 183,249 ล้านบาท หรือลดลง 7.22% คิดเป็นสัดส่วน 75.95% ของวงเงินงบประมาณ
  • รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 596.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.02% ของวงเงินงบประมาณ
  • รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 25,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.81% ของวงเงินงบประมาณ
  • รายจ่ายลงทุน จำนวน 620,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.00% ของวงเงินงบประมาณ
  • รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 1,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.01% คิดเป็นสัดส่วน 3.22% ของวงเงินงบประมาณ

2.รายได้สุทธิปีงบประมาณ 2565 จำนวน 2,400,000 ล้านบาท ลดลงจากประมาณการรายได้สุทธิปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามเอกสารงบประมาณ จำนวน 277,000 ล้านบาท หรือลดลง 10.35%

3.งบประมาณขาดดุลปีงบประมาณ 2565 จำนวน 700,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 91,037.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.95% คิดเป็น 4.04% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo