COVID-19

ชุดตรวจโควิด ‘Rapid test’ ขายว่อนเน็ต หมอแล็บแพนด้า เตือน อย่าซื้อมาตรวจเอง

ชุดตรวจโควิด Rapid test ไม่ควรซื้อมาตรวจเอง หมอแล็บแพนด้า เตือน อย.อนุญาตให้ใช้เฉพาะในสถานพยาบาล ผลตรวจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมเสี่ยงติดเชื้อ

ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือ หมอแม็กซ์ นักเทคนิคการแพทย์ หัวหน้างานตรวจโรคติดเชื้อทางโลหิตวิธีอณูชีววิทยาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หรือ หมอแล็บแพนด้า โพสต์เฟซบุ๊ก “หมอแล็บแพนด้า” เตือน ไม่ควรซื้อ ชุดตรวจโควิด Rapid test หรือ ชุดตรวจโควิดแบบรวดเร็ว มาใช้ตรวจโควิดด้วยตัวเอง โดยระบุว่า

ชุดตรวจโควิด Rapid test

“วันก่อนเห็นป้าสมรข้างบ้าน แกซื้อชุดตรวจโควิดแบบรวดเร็วมาใช้ แกบอกว่าซื้อจากออนไลน์มา ชื่อราปิดเทสต์ (Rapid test) ใช้เลือดแค่ 1-2 หยด 10-15 นาที รู้ผลโควิดทันที แถมมีราคาถูกกว่าวิธีมาตรฐาน(RT-PCR) ผมรู้ว่าป้าแกกังวล ก็เลยซื้อมาตรวจเอง

ผมก็เลยจับเข่าเล่าให้ป้าฟังว่า

1. ชุดตรวจโควิดพวกนี้ ไม่ควรซื้อมาตรวจเอง เพราะอย.อนุญาตให้ใช้ได้ในสถานพยาบาล หรือคลินิกเทคนิคการแพทย์เท่านั้น ป้าอย่าฝากไอ้จุ่นซื้อมาเจาะตรวจเองอีกนะครับ

2. ชุดตรวจพวกนี้ ผลการตรวจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีผลบวกปลอมหรือผลลบปลอมได้ ยกตัวอย่างเช่น บางคนติดเชื้อโควิดแต่ดันตรวจออกมาแล้วไม่เป็นโรคก็มี พอคิดว่าตัวเองปลอดภัยก็อาจทำตัวชิลๆตามปกติ เดินซื้อของตามห้าง เอาเชื้อไปติดคนอื่นต่อได้
หรือบางคนเป็นคนปกตินี่แหละ ไม่มีเชื้อโควิดในร่างกาย

แต่ชุดตรวจพวกนี้มันเออเร่อ มันผิดพลาดได้ปกติ อาจจะขึ้นขีดโชว์ว่าเป็นโรคก็ได้ ตะนี้พากันแห่ไปโรงพยาบาลมั่วไปหมด ทำให้เสี่ยงติดโรคกันไปใหญ่

3. ต่อให้กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ประกาศว่า ชุดตรวจนี้ผ่านการประเมินแล้ว ก็ไม่ใช่หมายความว่า เจ๊ติ๋มที่ขายของอยู่ตลาดวัดยายร่ม จะหาซื้อมาเจาะเลือดเอง หรือแปลผลเองได้ อนุญาตให้ใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น

4. การแปลผลซับซ้อนมากครับ ต้องใช้หลังมีอาการมาแล้ว 5-7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10-14 วัน ถ้าตรวจในช่วงนอกเหนือจากนั้นอาจทำให้ผลตรวจไม่แม่นยำได้

หมอแล็บ

5. ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว หมายถึงใช้เวลารวดเร็วในการทดสอบในห้องแล็บ 10-15 นาที แต่ไม่ได้แปลว่า ตรวจได้เร็วหลังจากรับเชื้อเข้าร่างกาย ต้องรอเวลาให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ซะก่อน ถ้าไปตรวจในเวลาที่ไม่ถูกต้อง ตรวจให้ตายก็ไม่เจอ

6. ถึงป้าจะบอกว่า เอ๊าาาา! ก็เขาขายชุดตรวจโควิดกันอย่างโจ๋งครึ่มในโลกออนไลน์นี่หว่า ขายตัดราคากันยังก๊ะขายเสื้อผ้า ทำไมป้าจะซื้อไม่ได้ คือออ ป้าครับ หน่วยงานที่รับผิดชอบในการห้ามขาย เขาอาจจะยุ่งๆอยู่ เดี๋ยวหายยุ่งเขาคงไล่ดำเนินคดีมั้งครับ ใช่มั้ย?
เพราะการจำหน่ายหรือครอบครองชุดตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี Rapid Test โดยไม่ใช่สถานพยาบาลเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

7. ชุดตรวจ Rapid Test ไม่สามารถยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ต้องยืนยันผลด้วยวิธีมาตรฐานอยู่ดี และไม่ใช่วิธีหลักในการวินิจฉัยโรคโควิดนะครับป้า และแพทย์อาจใช้ในบางกรณีเท่านั้น

8.การเจาะเลือดตนเองที่บ้าน ถ้าทำด้วยเทคนิคไม่ดี อาจทำให้ติดเชื้อได้

ฝากบอกคนอื่นด้วยนะครับป้า อย่าซื้อมาตรวจเองล่ะ”

ก่อนหน้านี้ สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ออกแถลงการณ์ เรื่อง “การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้าน” ระบุว่า

ชุดตรวจ

สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของ Covid-19 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เป็นผลให้เกิดความตื่นตระหนกต่อสถานการณ์ มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งที่มีอาการหนัก อาการน้อย และไม่มีอาการ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเข้าข่ายต้องกักตัว เพื่อสังเกตอาการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป  ที่ต้องอยู่บ้านตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้เกิดเป็นกระแสความต้องการตรวจวินิจฉัยเชื้อ Covid-19 อย่างกว้างขวาง

แต่เนื่องจากการตรวจวินิจฉัยโดยวิธีมาตรฐาน ด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ มีขั้นตอนการตรวจที่ชับซ้อนและราคาแพง ใช้เวลานานและทำได้ในวงจำกัด จึงได้มีการพัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็วขึ้น โดยอาศัยการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อตัวเชื้อ ที่ร่างกายสร้างขึ้นและอาจตรวจพบได้ในเลือด เป็นการตรวจโดยใช้เลือดเพียง 1-2 หยดอ่านผลได้ทันที และมีราคาถูกกว่าวิธีมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการตรวจดังกล่าวมีข้อจำกัดหลายประการ นั่นคือความถูกต้องแม่นยำ ความไว ความจำเพาะ วิธีการแปลผลและคำแนะนำที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องดำเนินการตรวจและแปลผลการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้ได้โดยทั่วไป

ขณะนี้มีผู้ฉวยโอกาสจากวิกฤติ บนความทุกข์ยากของประชาชน ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอผ่านสื่อโซเชียล เสนอขายและแสดงวิธีการตรวจหาเชื้อ Covid-19 ด้วยตนเองที่บ้าน

สมาคมทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทยฯ ในฐานะที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ และเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ใคร่ขอเรียนชี้แจงให้ทราบว่า สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนการตรวจหาเชื้อด้วยตนเองที่บ้านไม่ว่าจะใช้ชุดตรวจใดๆ โดยเฉพาะชุดตรวจที่เสนอขายผ่านทางโซเชียล อาจจะมีคุณภาพไม่ดีพอหรืออาจยังไม่ได้รับการรับรอง เข้าข่ายเป็นการหลอกลวงประชาชน

ทั้งนี้ วิธีการตรวจที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผลการตรวจผิดพลาดได้ง่าย คำแนะนำในการแปลผลที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จะทำให้เกิดผลเสียตามมาอย่างมากมาย นอกจากนี้ การเจาะเลือดตนเองที่บ้าน ยังเปิดโอกาสให้มีการแพร่เชื้อ Covid-19 รวมทั้งเชื้อโรคอื่นที่สามารถติคต่อทางเลือดได้ เช่น โรคเอดส์ และไวรัสตับอักเสบ ให้แพร่กระจายสู่ชุมชนได้อย่างรวดเร็ว

การตรวจเลือดหาเชื้อจำเป็นต้องทำในห้องปฏิบัติการ ที่มีระบบการควบคุม การแพร่กระจายของเชื้อโรคอย่างดี มีระบบที่แน่นหนา และต้องดำเนินการโดยนักเทกนิคการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo