World News

ย้อนรอยมหันตภัยแฝด ‘แผ่นดินไหว-สึนามิ’ ถล่มสุลาเวสี

quake4 1

เกาะสุลาเวสี ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของอินโดนีเซีย ซึ่งเพิ่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ตามด้วยคลื่นยักษ์สึนามิที่พัดทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้า เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นดินแดนที่เกิดภัยพิบัติขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งจากมนุษย์ด้วยกันเอง และที่ร้ายแรงกว่า คือภัยอันแสนโหดร้ายจากธรรมชาติ

ในช่วงเวลาเกินกว่าครึ่งศตวรรษมาเล็กน้อย สุลาเวสีต้องรับมือกับภัยธรรมชาติหลายสิบครั้ง ทั้งแผ่นดินไหว ดินถล่ม น้ำท่วม สึนามิ และภูเขาไฟปะทุ

ภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรงล่าสุดที่ชาวเกาะนี้ต้องเจอ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา เมื่อแผ่นดินสะเทือนไหวในเวลาราว 18.00 น ตามเวลาท้องถิ่น และแม้ทางการจะประกาศเตือนภัยทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว แต่ก็ยกเลิกในเวลาต่อมา

ยังไม่ทันที่ชาวบ้านจะโล่งใจว่าไม่เกิดสึนามิแล้ว คลื่นยักษ์ที่ทุกคนหวาดกลัว ก็ซัดเข้าฝั่งเมืองปาลู ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวขนาดเล็ก และดองกาลา ชุมชมชาวประมงที่อยู่ใกล้เคียงกัน กวาดทุกอย่างหายไปกับกระแสน้ำภายในพริบตาเดียว

บรรดาผู้เชี่ยวชาญ พากกันตั้งข้อสังเกตว่า สีนามิที่เกิดขึ้นกับสุลาเวสีครั้งนี้ น่าจะแตกต่างจากปรากฏการณ์สึนามิส่วนใหญ่

ตามปกติแล้ว คลื่นสึนามิ จะเกิดจากการขยับตัวของเปลือกโลกในแนวดิ่ง แต่สึนามิสุลาเวสีนี้ น่าจะเกิดจากดินถล่มใต้น้ำ ตามแนวนอนทางลาดเชิงเขา

ยิ่งไปกว่านั้น ทำเลที่ตั้งของเมืองปาลู ที่อยู่ติดกับอ่าวซึ่งเป็นรูปทรงกรวย และมีความกว้างไม่มากนัก ทำให้เกิดแรงบีบอัดของมวลน้ำ ไหลตรงเข้าพื้นที่ชายฝั่งของเมืองอย่างเต็มแรง ด้วยความเร็วเฉลี่ยสูงถึง 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

000 19U19U

แผ่นดินเหลวกลืนชีวิต

นอกจากจะเจอกับแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ตื้นมาก โดยลึกลงไปใต้ดินเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงแล้ว แผ่นดินไหวครั้งนี้ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ ที่รู้จักกันในชื่อ “แผ่นดินเหลว” ในหมู่บ้านเปโตโบ เขตปาลูใต้ และที่หมูบ้านอีกแห่งหนึ่ง ในเขตปาลูตะวันตก ทำให้หมู่บ้านจมหายไปกับดินทั้งหมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน และทางการได้ตัดสินในที่จะประกาศให้ทั้ง 2 พื้นที่เป็น “สุสานหมู่” ทิ้งร้างไว้ในสภาพสุดท้าย โดยจะไม่มีการเข้าไปค้นหากู้ภัย หรือแตะต้องใดๆ

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์แผ่นดินเหลวจะเกิดขึ้นบริเวณผืนดินชุ่มน้ำและมีส่วนประกอบของเม็ดทราย หรือพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวปนตะกอนทราย อย่างที่เกิดขึ้นที่เมืองปาลู ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งทะเล

แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวจะทำให้แผ่นดินบริเวณดังกล่าวอ่อนตัวลงและเคลื่อนที่ได้ พาอาคาร และยานพาหนะบนพื้นดินเคลื่อนตัวไปด้วย ปรากฏการณ์นี้จะส่งผลเสียหายอย่างมากกับอาคาร ทางยกระดับ และชุมชนที่ตั้งอยู่บนภูเขา

หลังเกิดเหตุ แม้ทางการจะเร่งระดมความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ แต่ปฏิบัติการช่วยเหลือ และกู้ภัยก็ยังเป็นไปอย่างล่าช้า และยากลำบาก เพราะระบบโครงสร้างพื้นฐานถูกทำลายเกือบทั้งหมด หลายพื้นที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ทั้งยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สถานการณ์ผู้ที่รอดชีวิต ยังคงต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนอาหาร และน้ำดื่มสะอาด ผู้คนราว 80,000 คน กลายเป็นบุคคลไร้ที่อยู่อาศัย บางพื้นที่มีรายงานถึงการเกิดเหตุโกลาหลการแย่งชิงอาหาร และปล้นสะดม

000 19L2EP

ยุติค้นหามุ่งฟื้นฟู

หลังจากใช้เวลาช่วยเหลือ และกู้ภัยมานาน 2 สัปดาห์ ท่ามกลางความหวังที่จะพบผู้รอดชีวิตเพิ่มเติมไม่เหลืออยู่เลยนั้น เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียก็ได้ตัดสินใจที่จะยุติภารกิจการค้นหาผู้สูญหายอย่างเป็นทางการ พร้อมยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการล่าสุดไว้มากกว่า 2,000 ราย รวมถึง ผู้สูญหาย 680 คน แต่คาดว่า จริงๆ แล้วจำนวนผู้สูญหายน่าจะสูงถึง 5,000 คน จากความเป็นไปได้ที่ผู้สูญหายเหล่านี้ จะถูกฝั่งอยู่ใต้แผ่นดินที่ยุบตัวลงไปเพราะแผ่นดินเหลว

ทางการอินโดนีเซีย ระบุว่า ปฏิบัติการต่อจากนี้ไป คือ การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติ พร้อมจัดหาที่พักอาศัยแห่งใหม่ให้แก่ประชาชนต่อไป  ซึ่งรัฐบาลประเมินว่า น่าจะใช้เวลาฟื้นฟูราว 2 ปี ระหว่างปี 2562-2563 และจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2564

 

 

Avatar photo