The Bangkok Insight

อย่าสอบให้เสียเวลา…เปิดประมูลเก้าอี้เพื่อการศึกษาไปเลย!!

โรงเรียน 01

ว่าด้วยเรื่องระบบการศึกษาไทยกับค่าน้ำร้อนน้ำชา ที่วันนี้ดูจะสำคัญมากกว่าความรู้ ความสามารถและความฉลาดของเด็ก

เคยแต่อ่านในกระทู้ตามอินเตอร์เน็ตที่เหล่าคุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดีๆ เข้ามาปรึกษากันเรื่อง ค่าแป๊ะเจี๊ย ค่าน้ำร้อนน้ำชา หรือเรียกให้ดูสุภาพก็คือ “ค่าอุดหนุนการศึกษา” ก็ไม่คิดว่าจะเจอเข้ากับตัวเอง

วันนี้ขอเล่าประสบการณ์ตรงจาก “พี่” เมื่อพา “ลูก” วัย 7 ขวบที่กำลังจะสอบเข้าชั้นประถมปีที่ 1 ไปสมัครสอบ English Program (EP) โรงเรียนเอกชนชื่อดังย่านชานเมือง

“พี่” เล่าว่าสิ่งแรกเมื่อไปถึงคือ เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ปกครองกดบัตรคิวเพื่อรอที่จะสอบสัมภาษณ์ พร้อมยื่นใบแสดงความจำนงค์ให้กรอก มองดูเป็นเพียงกระดาษให้กรอกข้อความ 1 แผ่น แต่สาระสำคัญของกระดาษแผ่นนี้ไม่ใช่ประวัติการศึกษาของเด็ก หรือประวัติของพ่อแม่ แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่เน้นย้ำ คือ “เงินอุดหนุนการศึกษา” เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณารับเด็กเข้าเรียนนะคะ!! ….. ได้แต่ยิ้มรับกับสิ่งที่ได้ยินโดยไม่คิดอะไรมาก เพราะมีตัวเลขในใจว่าอยู่แล้ว อาชีพข้าราชการจะให้กรอกตัวเลข 6 หรือ 7 หลักสำหรับโรงเรียนชื่อดังเช่นนี้คงเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก แต่เมื่ออยากให้ “ลูก” ได้เรียนโรงเรียนนี้ก็ต้องเต็มที่ที่สุดกับความเหมาะสมและความสามารถที่มี

โรงเรียน3 01

เมื่อส่งใบแสดงความจำนงค์คืน เสียงของเจ้าหน้าที่ก็ดังกรีดโสตประสาทอีกครั้งว่า “เงินอุดหนุนการศึกษา” เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณารับเด็กเข้าเรียนนะคะ!! หากเพิ่มได้ให้เพิ่มในวันนี้เลย ทางเราจะไม่มีการโทรตามเหมือนในอดีตแล้วนะคะ” ตึ่ง!! ….. ยิ้มรับแห้งๆกับความตรงในความตั้งใจจะกระชากเงินในกระเป๋าของเจ้าหน้าที่จริงๆ

การสอบสัมภาษณ์ที่นี่ก็คงไม่ต่างจากโรงเรียนทั่วไป ที่ให้เด็กทดสอบการใส่เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า และการสอบสัมภาษณ์แบบวิชาการ คือ การอ่านภาษาไทย และภาษาอังกฤษ อย่างละ 2 หน้าเพื่อทดสอบความสามารถของเด็กในขั้นต้น หลังจาก “ลูก” สอบสัมภาษณ์เสร็จก็เป็นรอบของ “พ่อและแม่” คุณครูที่มานั่งสัมภาษณ์ให้คำชมว่า “ลูก” เก่งมาก ได้คะแนนสอบสัมภาษณ์เต็ม 100 คะแนน สามารถอ่านหนังสือภาษาไทยและอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว โต้ตอบเป็นภาษาไทยและอังกฤษได้รู้เรื่อง และไม่เขินอาย

“พี่” ลุกจากโต๊ะสัมภาษณ์ด้วยความภูมิใจพร้อมกับความฝันน้อยๆของ “ลูก” ว่าการเข้าเรียนที่นี่น่าจะไร้ปัญหา และได้เข้าเรียนสมกับที่ “ลูก” ต้องการ เพราะก่อนวันสอบได้พา “ลูก” มาเดินทั่วโรงเรียน สำรวจทุกห้องที่สามารถเข้าชมได้จน “ลูก” บอกว่า “อยากเรียนที่นี่” พ่อแม่จึงตัดสินใจลุย!!

แต่เมื่อก้าวพ้นประตูห้องสัมภาษณ์ก็พบเจ้าหน้าที่คนเดิม และได้ฟังประโยคเดิม ได้แต่เก็บความเซ็งไว้ในใจแล้วกลับบ้านเพื่อเตรียมตัวในการสอบข้อเขียนที่จะมาถึงในสัปดาห์ถัดไป…..

ได้แต่ฟังเรื่องที่ “พี่” เล่าด้วยความละเหี่ยใจ หาก “หลาน” ไม่ได้เรียนที่นี่ก็ขอให้เป็นเพราะหลานเราคงไม่เก่งพอสู้กับเด็กคนอื่นๆ คงไม่ใช่เพราะ “เงินอุดหนุนการศึกษา” ที่เจ้าหน้าที่ย้ำนักย้ำหนา ใครจะให้ความสำคัญกับค่าน้ำร้อนน้ำชามากกว่าความสามารถของเด็กละ จริงมั้ย!! เพราะถ้าเป็นแบบนั้น ก็น่าจะเปิดประมูลขายเก้าอี้ไปเลย ใครประมูลสูงสุด 30 อันดับ หรือ 100 อันดับก็คว้าเก้าอี้สำหรับเรียนในโรงเรียนนี้ไปเลย

คุณภาพชีวิตเด็กไทยในวันนี้น่าจะวัดจากเงินในกระเป๋าของพ่อแม่หรือไม่ หากไม่เก่งจริง ไม่ได้โควต้าเรียนดีก็อย่าหวังเข้าเรียนโรงเรียนที่ต้องการ ต่อให้เรียนเก่งแค่ไหน หากพ่อแม่ไม่มีกำลังจ่ายก็จบ!!

หลายคนอาจบอกว่ามันเป็นเรื่องปกติ หากอยากเข้าเรียนโรงเรียนดังๆ พ่อแม่ก็ต้องพร้อมลงแข่ง ทำงานเลี้ยงลูกก็เหนื่อยพออยู่แล้ว ก็มาแข่งกับเรื่องแบบนี้มันถูกต้องแล้วหรือ!! กระทรวงศึกษาควรเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องปกติของสังคม เพราะการจ่าย “อุดหนุนการศึกษา” ก็ถือเป็นการโกง ทุจริตคอรัปชันอย่างหนึ่ง

นั่งสอนเด็กให้ “โตไปไม่โกง” จะมีประโยชน์อะไร เมื่อโรงเรียนยังยึดถือการ “โกง” เป็นสิ่งสำคัญ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight