Economics

เดี๋ยวไม่ทัน!! เร่งดัน ‘ไฮสปีดไทย-จีน’ เฟส 2 ก่อนเลือกตั้ง

S 67919875

“การรถไฟฯ” ตั้งเป้าเสนอไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2 ช่วงโคราช-หนองคาย ให้ ครม. เห็นชอบก่อนเลือกตั้ง พร้อมเตรียมของบกลาง 1,200 ล้านบาท

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม โครงการรถไฟความเร็งสูงไทย-จีน เฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 350 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ ซึ่งการรถไฟฯ ตั้งเป้าจะเสนอผลการศึกษาให้ ครม. เห็นชอบภายในรัฐบาลชุดนี้

นอกจากนี้การรถไฟฯ เตรียมเสนอของบกลาง 1,200 ล้านบาท เพื่อออกแบบรายละเอียด โครงการก่อสร้างความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 2 โดยการรถไฟฯ กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะเสนอเรื่องเข้ากระทรวงคมนาคมในเร็วๆ นี้ จากนั้นคาดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะให้ความเห็นชอบไม่เกิน 2 – 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งฝ่ายนโยบายก็กำชับว่า การรถไฟฯ ต้องประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ อย่างใกล้ชิด อย่าให้เกิดข้อผิดพลาด

“การออกแบบรายละเอียดคงเสร็จไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ แต่การเสนอผลศึกษาให้ ครม. เห็นชอบ เพื่อดำเนินโครงการอาจจะทัน จะพยายามเร่งให้ทัน” นายวรวุฒิ กล่าว

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรถไฟฯ อยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งการรถไฟฯ จะพยายามยื่นผลการศึกษารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 2 เข้า ครม. ให้ทันรัฐบาลชุดนี้ นอกจากนี้จะของบประมาณออกแบบรายละเอียดคู่ขนานกันไปด้วย

ประมูลบิ๊กล็อต 1.1 แสนล้านบาท ตอกเสาเข็มปีหน้า

รายงานข่าวจากการรถไฟฯ เปิดเผยต่อว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทางรวม 252.5 กิโลเมตร วงเงินรวม 1.79 แสนล้านบาท เหลือการประมูลงานโยธาอีก 13 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา

สัญญาที่กำลังจะประมูลเป็นลำดับแรก คือ เส้นทางช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร วงเงิน 3,300 ล้านบาท โดยการรถไฟฯ กำลังจะนำร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ขึ้นรับฟังความเห็นบนเว็บไซต์เป็นครั้งที่ 2 ในสัปดาห์หน้า ถ้าหากไม่มีคำถามเพิ่มเติม ก็คาดว่าจะประกาศเชิญชวนผู้รับเหมาได้ในเดือนพฤศจิกายนและทราบผลผู้ชนะการประมูลในเดือนธันวาคม

สำหรับการประมูลจะใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งผู้รับเหมาจะต้องผ่านคุณสมบัติก่อน แล้วจึงไปแข่งขันด้านราคา โดยผู้รับเหมาที่เข้าร่วมประมูลได้ มีตั้งแต่รายกลางถึงรายใหญ่ เพราะอ้างอิงเงื่อนไขมาจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ผู้เข้าประมูลจะต้องมีผลงาน 15% ของมูลค่าโครงการหรือคิดเป็น 500 ล้านบาท

สำหรับการประมูลงานโยธาที่เหลืออีก 12 สัญญา วงเงินกว่า 1.1 แสนล้านบาทนั้น เบื้องต้นกระทรววงคมนาคมต้องการให้เปิดประมูลพร้อมกันทั้ง 12 สัญญาภายในครั้งเดียว แต่ในทางปฏิบัติอาจจะไม่ทัน เพราะฝ่ายจีนกำลังทบทวนข้อมูลบางส่วน จึงอาจจะต้องประมูลแบ่งออกเป็น 5 สัญญาแรกและ 7 สัญญาหลัง

แต่ไทม์ไลน์เบื้องต้นของงานโยธาทั้ง 12 สัญญา คือจะนำทีโออาร์ขึ้นรับฟังความคิดเห็นในเดือนพฤศจิกายน ออกประกาศเชิญชวนในเดือนธันวาคม เปิดให้ยื่นข้อเสนอในเดือนมกราคม 2562 ลงนามสัญญาในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2562 โดยทุกสัญญาต้องเริ่มก่อสร้างไม่เกินเดือนเมษายน 2562

ตื้อญี่ปุ่นร่วมลงทุนไฮสปีด

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะทำงานด้านเทคนิค โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ฝ่ายไทยยังต้องการให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) เพราะมีการหารือไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะมีความร่วมมือ G to G ด้านเทคโนโลยีรถไฟชินกันเซ็ง แต่ฝ่ายไทยก็ต้องการให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโครงการด้วย

ฝ่ายไทยจึงขอให้ญี่ปุ่นไปพิจารณาว่าจะสามารถร่วมลงทุนในส่วนใดได้บ้าง เพราะการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงมีงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เช่น การเดินรถ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นต้น ขณะเดียวกันขอให้ฝ่ายญี่ปุ่นไปพิจารณาว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายบางอย่างได้หรือไม่ เช่น การออกแบบขบวนรถละ 6 ตู้ ก็อาจลดเหลือ 4 ตู้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการเดินทางและมีความเป็นไปได้มากขึ้น แต่ยืนยันว่าผลการศึกษายังกำหนดให้รถไฟไทย-ญี่ปุ่นมีความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงต่อเดิม

“ได้ให้โจทย์เขาไปดูว่า เขาจะร่วมลงทุนในส่วนไหนได้บ้าง สัดส่วนเป็นยังไง แล้วก็มาคุยกันอีกครั้ง เพราะการลงทุนแค่บ้างงานอาจจะคุ้มค่ามากกว่า จึงขอให้เขาไปดูว่าสนใจจะร่วมลงทุนส่วนไหน” นายสราวุธ กล่าว

Avatar photo