COVID-19

ปี 2564 สัญญาณลบ ‘โควิด’ เปิด 3 ช่องโหว่ ‘ระบบสาธารณสุขไทย’

ปี 2564 สัญญาณลบ โควิด ชมรมแพทย์ชนบท เปิด 3 ช่องโหว่ระบบสาธารณสุขไทย ที่ต้องเร่งแก้ไข ชี้เป็นปีแห่งความท้าทาย ทั้งทางการแพทย์ และกลไกรัฐ

ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เพจเฟซบุ๊ก ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปี 2564 สัญญาณลบ โควิด ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของ ระบบสาธารณสุขไทย ที่ยังต้องเร่งแก้ไข และถือเป็นความท้าทาย ทั้งของการแพทย์ไทย และภาครัฐ โดยระบุว่า

ปี 2564 สัญญาณลบ โควิด

“ปี 2564 สัญญาณลบของโควิดที่ต้องการการตัดสินใจ

สถานการณ์โรคโควิด ณ 1 มกราคม 2564 นั้น กราฟยังทะยานพุ่ง จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งกว่าวันละ 250 คนแล้ว หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มในอัตรานี้ ความชันของกราฟยังเท่าเดิม ภายใน 14 วันจะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 1,000 คน

บัดนี้ สังคมไทย ได้เดินทางมาถึงจุดที่ยากลำบากยิ่ง จะ ล็อกดาวน์ เข้มข้นเช่นเดิมอีกครั้ง ก็ยากมาก เพราะเงินเก็บของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้หมดลงแล้ว ครั้นจะดำเนินมาตรการย่อหย่อน ก็แย่แน่

เรื่องนี้ รัฐบาลจึงต้องไตร่ตรองอย่างหนัก small-lockdown วงแคบเฉพาะบางพื้นที่ หรือบางหมู่บ้าน บางตำบล ที่มีการระบาด น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ส่วนบ่อนและวงพนันทุกรูปแบบ ทุกประเภท ต้องปิดให้หมด ถ้ายังพบเจอต้องมีผู้รับผิดชอบ

โควิด

สำหรับชมรมแพทย์ชนบท มีความเห็นว่า งานด้านการแพทย์การสาธารณสุข ยังมีช่องโหว่ กล่าวคือ

1. การเตรียมการในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อยังไม่พอ ส่วนใหญ่ของติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ทราบว่าทาง รมต.สาธารณสุข ได้สั่งการให้ทุกจังหวัด เตรียมโรงพยาบาลสนามแล้ว เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล

อันนี้สำคัญมาก คนไทยส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย บ้านหลังไม่ใหญ่ ไม่กี่คนที่มีห้องนอน แยกเป็นของตนเอง การจะให้กลับไปกักตัวที่บ้าน ย่อมมีโอกาสแพร่ระบาดสูง โรงพยาบาลสนาม ในทุกจังหวัด หรือทุกอำเภอในอนาคต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

2. การคัดกรองตรวจหาเชื้อโควิด ในคลินิกโรคหวัด ARI clinic ยังมีน้อยมาก แม้ในพื้นที่ระบาด ก็ยังตรวจน้อยไปมาก จึงควรที่จะมีการวางเกณฑ์ ในการคัดกรองที่กว้างขึ้น เพื่อการควบคุมโรคที่จำเพาะพื้นที่ได้มากขึ้น

3. ความพร้อมของระบบโรงพยาบาล ในการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อในโรงพยาบาล ยังมีไม่มากพอ ห้องแยกโรคยังไม่พอ หากระบาดใหญ่ ทรัพยากรทางการแพทย์อาจไม่พอ เตรียมการตอนนี้ก็ไม่ค่อยจะทันแล้ว การลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ให้ไม่เพิ่มจนเกินศักยภาพการรองรับของโรงพยาบาล จึงสำคัญยิ่ง

ปี2564 ตั้งแต่ต้นปี คือ ปีแห่งความท้าทาย ทั้งทางการแพทย์ และกลไกรัฐ โควิดรอบสองจะลามไกลแค่ไหน ชี้วัดความสามารถในการบริหารจัดการระบบของรัฐบาลอย่างยิ่งครับ”

นอกจากนี้ ชมรมแพทย์ชนบท ยังเตือนถึง อาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ซึ่งเป็นจุดเด่นจำเพาะของ โรคโควิด-19 โดยระบุว่า

อาการโควิด

“จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ท่านมีอาการนี้ไหม

จุดเด่นที่จำเพาะมากของการติดเชื้อโควิด คือ จมูกไม่ได้กลิ่น(anosmia) และลิ้นไม่รับรส(ageusia) หรือบางคนอาจรับกลิ่นรับรสใด้น้อยลง นี่คืออาการเด่นที่เป็น signature ของการติดเชื้อโควิด

ในรายงานชิ้นสำคัญทางการแพทย์ มีการศึกษา meta-analysis หรือการทบทวนงานวิจัยหลายชิ้นเพื่อมาสรุปรวม พบว่า ในคนที่ติดเชื้อโควิด 1,627 คน พบภาวะจมูกได้กลิ่นลดลงหรือไม่ได้กลิ่น 52.73% และในคนติดเชื้อโควิด 1,390 คน พบว่าลิ้นรับรู้รสเปลี่ยนไปหรือไม่รู้รส 43.93%

อาการเหล่านี้เป็นแล้วจะหายไปเองในไม่กี่วัน แต่หากท่านใดมีอาการจมูกไม่กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส แทบจะแปลได้ว่า ท่านได้ติดเชื้อโควิดแล้ว ให้แยกตัวออกจากคนอื่น แล้วเดินทางโดยไม่ใช้ขนส่งสาธารณะเพื่อไปตรวจเชื้อโควิดที่โรงพยาบาล

อาการไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ เมื่อยตัว หรือไม่มีอาการนั้น เป็นอาการโควิดที่ไม่จำเพาะ แต่หากพบว่าการได้กลิ่นและการรับรสมีปัญหา แปลว่า ท่านน่าจะติดเชื้อโควิดแล้วครับ ซึ่งไม่ได้น่าตกใจ เพียงแต่ไปตรวจให้รู้และจะได้กักตัวเองไม่ให้แพร่โรคให้คนอื่นๆต่อไป

ทุกวันก็ลองตรวจสอบตนเอง จมูกยังได้กลิ่น ลิ้นยังรับรส ได้เหมือนเดิมอยู่ใช่ไหม?”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo