COLUMNISTS

ปี 2564 อสังหาฯ ตลาดต่างจังหวัดน่าสนใจหรือไม่?

Avatar photo
รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนากลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร
3618

แม้วิกฤตจากการระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่เหตุใดในปีนี้ เราจึงเห็นข่าวผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ทั้ง แสนสิริ ศุภาลัย และเอพี ปักหมุดจับจองพื้นที่ เตรียมลุยโครงการใหม่ในต่างจังหวัดกันอย่างคึกคัก ทั้ง ๆ ที่ตลาดต่างจังหวัดนั้น อาศัยการขับเคลื่อนจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบัน สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ก็มีความตึงเครียดมากขึ้น และที่สำคัญ ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้แน่นอนว่า สถานการณ์นี้อีกนานแค่ไหนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เช่นนี้แล้วตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัด จะน่าสนใจดังที่รายใหญ่คาดการณ์ไว้หรือไม่?

การขยับตัวของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ แม้จะดูเป็นการเคลื่อนไหวที่สวนทิศทางตลาด แต่จากกรณีนี้ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ มีมุมมองว่า ผู้ประกอบการได้มองแผนธุรกิจในแบบระยะยาว ตามปัจจัยพื้นฐานการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่ยังคงสวยงามดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังนั้น แม้ปัจจุบันจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และต้องใช้เวลาในการกระจายวัคซีน รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจอาจจะต้องใช้เวลาในอีก 1 – 2 ปี ข้างหน้า

บ้าน ภาพชัตเตอร์21641

แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เอง ก็เป็นธุรกิจที่ต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาเช่นกัน ซึ่งหากเรารอให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว ค่อยหันมารุกธุรกิจกันอีกครั้ง นั่นก็จะทำให้เกิดช่องว่าง ในการพัฒนาโครงการใหม่ช้าไปอีก 2 – 3 ปี ดังนั้น แม้ปัจจุบันจะอยู่ท่ามกลางวิกฤติ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จะยังเดินหน้าธุรกิจเพื่อเตรียมพร้อมการกลับมาเป็นปกติ เพราะโลกของการทำธุรกิจนั้นต้องยึดหลัก “คิดไว ทำไว”

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เริ่มขยายการลงทุนไปสู่ตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น เป็นเพราะการแข่งขันในทำเลกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบรุนแรงขึ้น ราคาที่ดินพุ่งสูงไปหลายเท่าตัว ซึ่งล่าสุดในปี 2563 แม้จะเป็นปีที่เกิดวิกฤติ แต่ราคาที่ดินเฉลี่ยของกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ ก็ยังปรับตัวขึ้นจากปี 2562 ที่ 8%

ขณะเดียวกัน ตลาดต่างจังหวัดถือว่ายังอยู่ในก้าวแรก ๆ ของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้มีโอกาสในการเติบโตที่สูง อย่างไรก็ดี ตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัดนั้น ทางพลัสฯ ประเมินว่า มีความน่าสนใจหลายพื้นที่ โดยมีพื้นที่ที่มีความโดดเด่นในตอนนี้ยังคงหนีไม่พ้นหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา หัวหิน รวมถึงในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม เช่น EEC ที่มีอุปสงค์จากชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยหากสถานการณ์เริ่มกลับมาเป็นปกติ

ทั้งนี้ จากการระบาดของโควิด-19 ก็ได้ส่งผลให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ โดยในส่วนของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในหัวเมืองท่องเที่ยว จากเดิมที่เน้นการพัฒนาโครงการแนวสูงอย่างคอนโดมิเนียม ที่จับกลุ่มชาวต่างชาติ ที่ต้องการที่พักตากอากาศ หรือกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการปล่อยเช่าระยะยาวให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็หันมาเพิ่มสัดส่วนลูกค้ากลุ่มที่เป็น Real Demand โดยการเปิดขายโครงการแนวราบอย่างบ้านเดี่ยว เพื่อตอบโจทย์คนไทยที่ต้องการบ้านหลังที่สองในเมืองตากอากาศ เพื่อชดเชยกำลังซื้อที่หายไปจากสถานการณ์ปัจจุบันนี้

นอกจากนี้ เรื่องการ Work from Home ก็อาจเป็นปัจจัยสนับสนุน ที่เปิดโอกาสให้สามารถทำงานจากต่างจังหวัดได้ ส่งเสริมการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองท่องเที่ยวเป็นของตัวเอง เพราะเกิดความคุ้มค่ากว่าการเช่า อีกทั้งในระยะยาวเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติก็ยังสามารถปล่อยเช่าหรือขายต่อทำกำไรได้ ดังนั้นแม้ปี 2564 จะยังเป็นปีที่เศรษฐกิจจะยังทรงตัวต่อไป แต่เราจะได้เห็นบรรยากาศการเข้าไปลงทุนของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ รวมถึงจะยังเป็นโอกาสทองของผู้ที่สนใจลงทุนอสังหาริมทรัพย์เมืองท่องเที่ยวเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวอีกปีหนึ่งเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนั้น จะยังคงไม่คึกคักไปอีก 1 – 2 ปี ดังนั้น สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนจะต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อม มีเงินเย็นที่ไม่กระทบสภาพคล่องในระยะสั้น เพราะหากจะหวังซื้อลงทุนเพื่อขายทำกำไรในระยะ 1 – 2 ปีนี้อาจจะยังไม่ใช่จังหวะที่ดี

แต่สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองนั้นมองว่าโอกาสนี้เป็นจังหวะที่ดีในการซื้อเพราะหากมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอยู่แล้วและผู้ซื้อมีความพร้อมด้านการเงิน ก็จะทำให้มีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีการลดราคาอย่างคุ้มค่ารวมถึงเข้าถึงสินเชื่อในยุคดอกเบี้ยต่ำ

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งปัจจัยที่จะเข้ามามีบทบาทกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีหน้าก็คือมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาและขยายเพดานการลดค่าโอนและจดจำนองปรับวงเงินช่วยเหลือ จากเพดาน 3 ล้านบาท เป็น 5 – 10 ล้านบาทเพื่อให้ครอบคลุมทุกกำลังซื้อ

นอกจากนี้ มาตรการด้านการดึงกำลังซื้อจากคนต่างชาติก็ควรให้ความสำคัญเช่นกัน และภาครัฐ ควรเน้นมาตรการป้องกันควบคุมโควิดเข้มข้นในหัวเมืองเที่ยว เพื่อคุมสถานการณ์ให้กลับมาปลอดภัยอีกครั้ง และช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ทุกอุตสาหกรรมรอดไปด้วยกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม