World News

ย้อนดูปี 2020 กับ 10 ประเด็นสำคัญระดับโลก!

สำนักข่าวซินหัว รายงาน 10 ประเด็นสำคัญระดับโลก ในปี 2020

1. โรคโควิด-19 ระบาดใหญ่รุนแรงทั่วโลก

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็น “การระบาดใหญ่” โดยข้อมูลขององค์การระบุว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ตามเวลากรุงปักกิ่ง โลกมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมกว่า 80 ล้านราย เสียชีวิตแล้วกว่า 1.77 ล้านราย ผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้าง ความสูญเสียมหาศาล และสารพัดอุปสรรคที่ยากต่อการป้องกันและควบคุม ทำให้การระบาดใหญ่ของโรคนี้กลายเป็นวิกฤตสาธารณสุขระดับโลก ที่เคยเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ขณะที่โลกเผชิญวิกฤตทางสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายประเทศต่างร่วมมือกันต่อสู้กับการระบาด โดยจีนได้ทำปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมเพื่อรับมือภาวะฉุกเฉินระดับโลกครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในเวทีโลก

อย่างไรก็ตามมีนักการเมืองสหรัฐฯ บางคนพยายามทำการระบาดให้เป็นเรื่องการเมือง ทำการตีตรา ปัดความรับผิดชอบของตน และทำร้ายความร่วมมือของนานาชาติในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคในการต่อสู้กับโรคระบาดของมนุษยชาติ

get 70 19 e1609468204586
(แฟ้มภาพซินหัว : คณะผู้เชี่ยวชาญจากทีมแพทย์จีนและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ท้องถิ่นร่วมถ่ายภาพระหว่างที่เกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่กรุงบราซาวิล เมืองหลวงของสาธารณรัฐคองโก วันที่ 26 พ.ค. 2020)

2. แนวคิดการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเสนอแนวคิดการสร้างประชาคมด้านสุขภาพระดับโลกสำหรับทุกคนเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม

แนวคิดของประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติแข็งแกร่งขึ้น ตั้งแต่การสร้างประชาคมด้านสุขภาพระดับโลกสำหรับทุกคน ไปจนถึงการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของทุกชีวิตบนโลก ตลอดจนประชาคม 4 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ ความมั่นคง การพัฒนา และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO)

การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจีนทำงานร่วมกับฝ่ายอื่นๆ มากขึ้น ในการสร้างทวิภาคีที่มีอนาคตร่วมกัน

จีนบรรลุฉันทามติเพิ่มขึ้นในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน,ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก, อาเซียน, แอฟริกา, อาหรับ และลาตินอเมริกา

การต่อสู้กับโรคโควิด-19 ของทั่วโลก ย้ำถึงความจริงที่ว่ามนุษยชาติล้วนมีอนาคตร่วมกัน ดังนั้นแนวคิดนี้จึงได้รับความนิยมยิ่งขึ้นในทั่วโลก

get 71 17 e1609468259530
(แฟ้มภาพซินหัว : สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศจี20 (G20) ครั้งที่ 15 สมัยที่ 2 ผ่านทางออนไลน์ที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน วันที่ 22 พ.ย. 2020)

3. จีนส่งเสริมความสามัคคีและความร่วมมือผ่าน “การทูตคลาวด์”

วันที่ 26 มีนาคม สีจิ้นผิงเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ จี20 (G20) สมัยพิเศษ เกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ผ่านทางออนไลน์ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันต่อสู้กับการระบาดใหญ่

ตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ขึ้น สีจิ้นผิงดำเนิน “การทูตทางโทรศัพท์” และ “การทูตทางจดหมาย” โดยเข้าร่วมและเป็นประธานการประชุมแบบเสมือนจริงหลายครั้ง อาทิ การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA), การประชุมวิสามัญจีน-แอฟริกา ว่าด้วยการร่วมใจต่อสู้โรคโควิด-19, การประชุมระดับสูงเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งสหประชาชาติ, การประชุมสภาผู้นำรัฐบาลแห่งองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO), การประชุมของกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS), การประชุมระดับผู้นำด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก และการประชุมสุดยอด G20

ระหว่างการประชุมเหล่านี้สีจิ้นผิงได้นำเสนอวิธีการของจีนในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อต่อต้านโควิด-19 กระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และพัฒนาธรรมาภิบาลโลก

ภายใต้การชี้นำทางยุทธศาสตร์ของผู้นำจีนและรัสเซีย ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านในการประสานงานสำหรับยุคใหม่ระหว่างจีนและรัสเซียยังคงมีความมั่นคงและแข็งแกร่ง แสดงถึงพลังและความสามารถในการฟื้นตัวอันดี

จีนปฏิบัติตามหลักการของความสามัคคีและความร่วมมือ โดยมีส่วนร่วมที่สำคัญในด้านการส่งเสริมสุขภาพและสวัสดิภาพของมนุษยชาติ รวมถึงสันติภาพและการพัฒนาของโลก

get 72 18 e1609468322912
(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้ชุมนุมถือป้าย “ชีวิตคนดำก็มีค่า” (Black Lives Matter) ระหว่างการประท้วงกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ บริเวณใกล้ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ วันที่ 8 มิ.ย. 2020)

4. ความขัดแย้งทางเชื้อชาติเผยปัญหาสิทธิมนุษยชนในสหรัฐ

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม จอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาเสียชีวิตลงหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดลำคอของเขาลงกับพื้นนานเกือบ 9 นาที เหตุการณ์นี้จุดประกายการประท้วงขนานใหญ่ยืดเยื้อทั่วสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและพฤติกรรมโหดร้ายของตำรวจ

ตั้งแต่นั้นมามีการเปิดโปงกรณีการใช้ความรุนแรงกับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวอย่างต่อเนื่อง และมีการยกระดับการประท้วงต้านการเหยียดเชื้อชาติ “ชีวิตคนดำก็มีค่า” กลายเป็นหนึ่งในวลีที่โด่งดังที่สุดของปี 2020

ข้อเท็จจริงเผยให้เห็นว่าแนวคิดคนขาวเป็นใหญ่ในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย ความขัดแย้งทางเชื้อชาติยากจะไกล่เกลี่ย การแบ่งแยกทางสังคมขยายวงกว้าง ซึ่งล้วนส่อถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนและการเหยียดเชื้อชาติเชิงระบบที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ

get 73 16 e1609468385692
(แฟ้มภาพซินหัว : โยชิฮิเดะ ซูงะ ผู้นำคนใหม่ของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDR) ยืนขึ้นหลังได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น วันที่ 16 ก.ย. 2020)

5. อาเบะลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ญี่ปุ่น แต่นโยบายส่วนใหญ่ยังคงเดิม

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ ประกาศลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ต่อมาวันที่ 14 กันยายน โยชิฮิเดะ ซูงะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับเลือกเป็นประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยคนใหม่ และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 16 กันยายน สิ้นสุดยุคสมัยของอาเบะนายกรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่นานที่สุดของญี่ปุ่น ผู้ได้บริหารประเทศมานานกว่า 7 ปี

ซูงะประกาศชัดเจนว่าเขาจะ “สานต่อการดำเนินงานในสมัยของนายกรัฐมนตรีอาเบะ” โดยนโยบายด้านการทูตและความมั่นคงของเขาเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคณะรัฐบาลของอาเบะ

get 74 17 e1609468458368
(แฟ้มภาพซินหัว : วอลคาน บอสคีร์ ประธานการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 75 กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมระดับสูงเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งสหประชาชาติ ที่สำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์กของสหรัฐ วันที่ 21 ก.ย. 2020)

6. สหประชาชาติส่งเสริมระบบพหุภาคี ในวาระครบรอบ 75 ปี

เมื่อวันที่ 21 กันยายน สหประชาชาติจัดการประชุมระดับสูงเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี การก่อตั้งสหประชาชาติ โดยประเทศสมาชิกได้รับรองคำประกาศที่ย้ำถึงความสำคัญของระบบพหุภาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศ พร้อมยืนยันพันธกิจต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การปกป้องสิ่งแวดล้อม สันติภาพ ความยุติธรรม และความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น

บรรดาผู้นำและผู้แทนจากประเทศที่เข้าร่วมการประชุมระบุว่าขณะที่โลกเผชิญภยันตรายและความท้าทาย โดยเฉพาะการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ประชาคมระหว่างประเทศเล็งเห็นถึงความเร่งด่วนในการค้ำจุนระบบพหุภาคีและยกระดับการประสานงานระดับโลกให้มากขึ้น โดยอันโตนิอู กูแตร์เรช เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่าประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องมีระบบพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกระตุ้นให้ทั่วโลกร่วมมือกันพัฒนาธรรมาภิบาลโลก

ความเห็นของบรรดาผู้เข้าร่วมการประชุมสะท้อนให้เห็นถึงฉันทามติระหว่างประเทศเรื่องการยกระดับการปฏิรูประบบธรรมาภิบาลระดับโลก

get 75 19 e1609468531511
(แฟ้มภาพซินหัว : ชายคนหนึ่งเดินผ่านบ้านที่ได้รับความเสียหายจากการปะทะกันในเขตทาร์ทาร์ ซึ่งมีพรมแดนติดกับภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค วันที่ 29 ก.ย. 2020)

7. ความขัดแย้งนากอร์โน-คาราบัค เป็นภัยต่อความมั่นคงของภูมิภาค

ความขัดแย้งกันด้วยอาวุธระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน แม้หลายประเทศ เช่น รัสเซียและสหรัฐ จะช่วยผลักดันข้อตกลงสงบศึกถึง 3 ครั้งในเดือนตุลาคม แต่ก็ไม่สามารถยุติการปะทะที่รุนแรงได้

ในเดือนพฤศจิกายนผู้นำของรัสเซีย อาเซอร์ไบจาน และอาร์เมเนียบรรลุข้อตกลงสันติภาพ พร้อมประกาศจุดสิ้นสุดของความขัดแย้ง ต่อมารัสเซียและตุรกีได้ลงนามในบันทึกข้อความเพื่อร่วมกันจัดตั้งศูนย์สำหรับสังเกตการณ์การสงบศึกในพื้นที่ดังกล่าว

ความขัดแย้งในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคคอเคซัสและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเปราะบางเป็นทุนเดิม

get 76 16 e1609468582448
(แฟ้มภาพซินหัว : พนักงานในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ วันที่ 18 มี.ค. 2020)

8. เศรษฐกิจโลกสะเทือน-ถดถอยหนัก

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่รายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 4.4% ในปี 2020 เนื่องจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ประกอบกับปัจจัยเชิงลบอื่นๆ

ขณะที่การระบาดได้ลุกลามไปทั่ว โลกต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ช่วงทศวรรษ 1930 ทั้งยังเจอปัญหาจากความเสี่ยงต่างๆ ที่มาจากการระบาดของโรค และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวอย่างมั่นคงได้ในเร็ววัน

ช่วงเวลานี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น 5จี (5G) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลีด้านเมืองอัจฉริยะ รวมถึงมีการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจแบบไร้การสัมผัส เช่น การซื้อสินค้า-การศึกษาทางออนไลน์ และโทรเวชกรรม ซึ่งสร้างหนทางใหม่ให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ

get 77 19
(แฟ้มภาพซินหัว : ตู้สินค้าที่ท่าเรือปาซีร์ ปันจัง ในสิงคโปร์ วันที่ 17 ส.ค. 2020)

9. การลงนามความตกลง RCEP หนุนความร่วมมือพหุภาคี

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ประเทศสมาชิก 15 แห่ง ได้แก่ 10 กลุ่มประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) พร้อมจัดตั้งกลุ่มความตกลงการค้าเสรีที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก มีโครงสร้างสมาชิกที่หลากหลายที่สุด และมีศักยภาพการพัฒนาสูงสุด

ความตกลงข้างต้นเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดกว้างอย่างมาก ในด้านการค้าสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุนในหมู่ประเทศสมาชิก ยกระดับเสรีภาพทางการค้าและการลงทุน และเสริมสร้างแรงดึงดูดและความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาค ทั้งส่งเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ขณะเดียวกันก็เป็นแรงกระตุ้นใหม่ในการเติบโตของโลก

get 78 18 e1609468702224
(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพข้อความ “สหราชอาณาจักรเลือกที่จะถอนตัว” (UK VOTES OUT) ปรากฎบนหน้าจอขนาดยักษ์ ขณะผู้สนับสนุนข้อตกลงเบร็กซิตรวมตัวกันเฉลิมฉลองที่จัตุรัสในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของสหราชอาณาจักร วันที่ 31 ม.ค. 2020)

10. ข้อตกลงการค้าหลังเบร็กซิตที่ไม่ง่าย-เลี่ยงเจ็บตัวทั้งสองฝ่าย

หลังการเจรจาที่ซับซ้อนยืดเยื้อนาน 9 เดือนในที่สุดสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีแล้วเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ข้อตกลงนี้จะควบคุมดูแลความสัมพันธ์ทางการค้าและความมั่นคงระหว่างสองฝ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021

ข้อตกลงนี้จะสร้างความมั่นคงให้แก่ความร่วมมือในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป เพื่อเลี่ยงสถานการณ์เสียหายทั้งสองฝ่าย อันเกิดขึ้นจากการถอนตัวจากสหภาพยุโรปโดยไร้ข้อตกลง

เบร็กซิตสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสหภาพยุโรป และจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงด้านการเมืองและเศรษฐกิจของโลก นานาประเทศล้วนจับตาดูความเป็นไปของความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปหลังจากการถอนตัวครั้งนี้

ขอบคุณ สำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo