COLUMNISTS

ถามหากติการับค้าเสรี LNG : ปฏิรูปก๊าซธรรมชาติ 

Avatar photo
1140

ในช่วงนี้มีข่าวว่า “คณะกรรมฺการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน” กำลังนัดหมายหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในประเด็นเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน โดยเฉพาะการเปิดเสรีกิจการพลังงานทั้งระบบ เช่น การเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติที่ ทาง กกพ. ได้จัดทำข้อกำหนดการเปิดให้ใช้ หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรมชาติ และสถานีก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) แก่บุคคลที่ 3 (LNG Terminal TPA code) เพื่อเปิดให้มีการแข่งขันนำเข้า LNG

แต่ในทางปฏิบัติยังถือว่าไม่เอื้อให้เกิดการนำเข้ามาแข่งขันของภาคเอกชน มีเพียงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รายเดียวที่ทางภาครัฐอนุมัติให้มีการนำเข้า LNG จำนวน 1.5 ล้านตัน ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยให้มีความพร้อมนำเข้าภายในปี 2561 และเริ่มนำเข้าในปี 2562

จึงมีคำถามว่า เมื่อกฎกติกาการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติได้ออกมา 2 ปีแล้ว แต่ทำไมจึงยังไม่มีเอกชนรายใดเลยนำเข้ามาได้ สาเหตุหลักๆ ก็คือ

สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. กับเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี หรือผู้ผลิตฟ้าเอกชนรายเล็กที่ผลิตทั้งไฟฟ้า และไอน้ำ หรือที่เรียกว่า ระบบ Cogeneration เป็นสัญญาระยะยาว 10 – 20 ปี ซึ่งผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งสองประเภทนี้ยังมีสัญญากับ ปตท. ถึงแม้บางรายสัญญาใกล้หมดแล้วก็ตาม

คาดว่าคงจะต่อสัญญากับ ปตท. อย่างแน่นอน คงไม่ไปหาซื้อก๊าซธรรมชาติกับผู้ขายรายใหม่ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน ไม่มีแรงจูงใจอะไร หรือ ไม่มีประโยชน์กับเอกชนแต่อย่างใด เพราะว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ซื้อได้จาก ปตท. ไม่ว่าราคาจะแพง หรือถูกก็สามารถส่งผ่านไปยังไฟฟ้าได้โดยกลไกของค่าเอฟทีอยู่ดี

ในกรณีของ กฟผ. เองที่ภาครัฐอนุมัติให้นำเข้า LNG จำนวน 1.5 ล้านตันดังกล่าวนั้น ก็ยังมีปัญหาที่ว่า ราคา LNG ที่ กฟผ. นำเข้า ย่อมแพงกว่าราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เรียกว่า ราคา  Pool  (ราคา Pool คือราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติ 3 แหล่ง ได้แก่ ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งถูกกว่าราคาก๊าซจากเมียนมาร์และราคานำเข้า LNG ซึ่งมีทั้งสัญญาระยะยาว และราคาตามตลาด (Spot))

หากถ้าเป็นเช่นนี้ศูนย์สั่งจ่ายไฟฟ้า กฟผ. ซึ่งจะสั่งจ่ายไฟฟ้าจากราคาต่ำสุดไปยังราคาสูงสุดหรือที่เรียกว่า Merit Order ก็ไม่สามารถสั่งให้โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ใช้ LNG นำเข้าดังกล่าวผลิตไฟฟ้าได้ เพราะว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอื่นๆ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติราคา Pool ได้ หรือถ้าหากจะให้โรงไฟฟ้าก๊าซ ของ กฟผ. ที่ใช้ LNG นำเข้า เดินเครื่องขายไฟฟ้าต้นทุนค่าไฟฟ้า ทำให้ค่าเอฟทีสูงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้จะนำเข้า LNG  มาเพื่ออะไร

หากเป็นภาคเอกชนก็ไม่แตกต่างจากกรณีของ กฟผ. กล่าวคือ หากให้เอกชนนำเข้า LNG ซึ่งราคาย่อมสูงกว่าราคา Pool จึงไม่มีเหตุผลที่จะให้นำเข้า ดังนั้นหากจะเปิดให้เอกชนนำเข้า LNG จะต้องมีกฎกติกาที่ชัดเจนว่า ราคา LNG ที่นำเข้ามาจะแข่งขันกับราคาก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. จัดหามาอย่างไร

โดยปตท. จัดหาก๊าซมาจาก 3 แหล่ง คือ ก๊าซจากอ่าวไทยราคาถูกสุด ส่วนนำเข้าจากเมียนมาราคาสูงกว่าอ่าวไทย และนำเข้า LNG  จากประเทศต่างๆ ซึ่งมีทั้ง จัดหาระยะยาว และราคา Spot ซึ่งราคาแพงกว่าก๊าซในอ่าวไทย

ที่สำคัญสุด คือ ต้องกำหนดกติกาให้มีการแข่งขันในตลาดไฟฟ้าไปพร้อมกันด้วย  โดยต้องให้เปลี่ยนกติกาที่ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ราคานำเข้า LNG สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซในราคา Pool ได้ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่เห็นทางกระทรวงพลังงาน และ กกพ.. พูดถึง ซึ่งจะต้องมีการศึกษาในรายละเอียดอีกมาก เพราะว่าหากเปิดเสรีแล้วค่าไฟฟ้าสูงขึ้น จะทำไปเพื่ออะไรกัน ???