Wellness

ฟังแนวคิด Circular Economy ปรับใช้อย่างไรให้เป็น ‘ธุรกิจอาหารรักษ์โลก’

นายมาร์ค บัคลี่ย์
นายมาร์ค บัคลี่ย์

Circular Economy ในฐานะแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียที่เกิดจากการผลิตและบริโภค และการทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่มีขยะ กำลังเป็นสิ่งที่ได้รับการพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากหลายประเทศทั่วโลก ส่วนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรนั้น เรามีประสบการณ์และการแบ่งปันของนายมาร์ค บัคลี่ย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งของ ANJA GmbH & Co. KG และ ALOHAS ECO-Center ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งผลิตอาหารและเครื่องดื่มอย่างยั่งยืนโดยปราศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและของเสียมาฝากกัน

ข้อ 1 อุตสาหกรรมการผลิตอาหารจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่

ปัจจุบัน ประชากรหนึ่งในสามของโลกต้องเผชิญภาวะการขาดวิตามินและแร่ธาตุซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนา (Micronutrient deficiencies) และประชาชนกว่าสองพันล้านคนต้องประสบปัญหาน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ประชากรทั้งสองกลุ่มนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในเมืองเดียวกัน ในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการผลิตอาหารหรือระบบการเกษตรไม่ได้ประสบความสำเร็จในการผลิตอาหารที่มีประโยชน์ให้กับมนุษย์

นอกจากนั้น กระบวนการผลิตอาหารยังเน้นไปที่การประหยัดต้นทุนมากกว่าหาวิธีการผลิตที่ถูกต้อง แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวด้านการผลิตอาหารขึ้นมาใหม่ ๆ ทั่วโลกเช่นในญี่ปุ่นและสิงคโปร์ แต่ก็ยังขาดการตั้งคำถามว่ากว่าจะมาเป็นสินค้าสุดท้ายในมือผู้บริโภคนั้น มีที่มาอย่างไร ต้องใช้พลังงาน น้ำ หรือวัตถุดิบจากไหน

ในจุดนี้ นายมาร์ค บัคลี่ย์ มองว่า มนุษย์จำเป็นต้องปฏิรูประบบอาหารเพื่อให้ประชากรโลกได้รับอาหารที่มีคุณภาพดีเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อีกทั้งต้องดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ระบบการผลิตทางเลือกที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีการนำมาทำแล้ว เช่น การปลูกพืชควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลา (Aquaponics) การทำฟาร์มแนวดิ่ง (Vertical Farming) หรือการพัฒนาเนื้อสัตว์เทียม (Memphis Meats) เป็นต้น

ข้อ 2 ใช้แนวคิด Circular Economy ช่วยยกระดับความคิดของภาคการผลิต

จากแนวคิดของ Circular Economy ที่เน้นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ผู้ผลิตต้องตระหนักเสมอว่าสิ่งที่เราผลิตขึ้นมาบนโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่เป็นความรับผิดชอบของเราทั้งสิ้น เพราะผู้บริโภคจะไม่คำนึงถึงมากว่าจะต้องนำซากที่เหลือกลับมาใช้อย่างไร เขาแค่ต้องการความสะดวกสบายในการนำมาใช้ เหล่านี้จึงเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่จะต้องคิดอย่างเป็นระบบว่าเวลาผลิตของขึ้นมาแล้วจะนำกลับมาใช้ใหม่อย่างไร

ข้อ 3 ปรับใช้แนวคิดแบบ Startup

สำหรับกรณีที่องค์กรไม่แน่ใจว่าจะหาไอเดียได้จากไหน หรือองค์กรใหญ่ ๆ มักมีโครงสร้างหรือระบบที่ไม่กระฉับกระเฉง การคิดแบบ Startup จะทำให้องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นได้

สำหรับประเทศไทย นายมาร์ค บัคลี่ย์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า สามารถนำแนวคิด Circular Economy มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้ เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว มีอาหารสมบูรณ์ เอร็ดอร่อย แต่ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมนี้คือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ดังนั้นควรจะมีการผลิตอาหารและเครื่องดื่มด้วยวิธีใหม่ ๆ มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การนำความชื้นในอากาศมาแปรเป็นขั้นตอนหนึ่งในการผลิตเครื่องดื่ม ก็ถือเป็นการใช้ประโยชน์ธรรมชาติที่ดีอีกทางหนึ่งเช่นกัน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight