Startup

‘หาความแตกต่าง’ วิธีสร้างธุรกิจ ‘บูคาลาปัก’ ยูนิคอร์นตัวใหม่แห่งอินโดฯ

ในตรอกแคบๆ แห่งหนึ่งด้านหลังอาคารสูงที่ยืนเรียงรายอยู่ใจกลางกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย “มุลโยโน” เปิดร้านขายของใช้จิปาถะมานาน 4 ปีแล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชายหนุ่มวัย 31 ปี เจ้าของธุรกิจเล็กๆ แห่งนี้ จะซื้อสินค้าต่างๆ จากผู้ขายส่งมาตลอด

mul

แต่รูปแบบการทำธุรกิจของเขา เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อพนักงานขายรายหนึ่งจาก “บูคาลาปัก” สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซที่กำลังมาแรงของอินโดนีเซีย แสดงให้มุลโยโนได้เห็นถึงวิธีการจัดซื้อของมาขายผ่านทางแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน

“ตอนนี้ผมซื้อทุกอย่างผ่านบูคาลาปัก ไม่ว่าจะเป็นบัตรเติมเงินมือถือ บุหรี่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือแม้กระทั่งรองเท้าแตะ” มุลโยโน กล่าว ขณะนั่งอยู่ด้านหน้าร้านของตัวเอง ที่มีป้ายเขียนว่า “ตัวแแทนบูคาลาปัก” ติดอยู่

เขาบอกด้วยว่า สินค้าทุกอย่างบนบูคาลาปักมีราคาถูก แถมส่งให้ฟรีด้วย ทั้งเขายังได้รับเงินคืน สำหรับการซื้อสินค้าโดยใช้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของแอพ และในกรณีที่สินค้าไม่มาส่งในช่วงเย็นวันเดียวกัน หากสั่งซื้อสินค้าไปตั้งแต่ตอนเช้า

“บูคาลาปัก” ถือเป็นสตาร์ทอัพที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ผ่านการสร้างตลาดออนไลน์ เชื่อมต่อผู้ซื้อเข้ากับคนขายของ และกำลังเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกับ “โตโกพีเดีย” คู่แข่งสัญชาติเดียวกัน “เจดีดอทคอม”  ตลาดออนไลน์จากจีน และคู่แข่งรายอื่นๆ ที่กำลังแข่งขันกันในตลาดสินค้าอุปโภคบริษัทโภคขนาดใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

เมื่อปีที่แล้ว บูคาลาปักขยายการทำธุรกิจให้กว้างขึ้น ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะบุคคลทั่วไปเท่านั้น แต่ยังพุ่งเป้าไปที่เจ้าของร้านค้าเล็กๆ อย่างมุลโยโน ด้วยการจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อย่าง ยูนิลีเวอร์ โดยตรง และนำมาจำหน่ายให้กับเจ้าของร้านค้าเหล่านี้

บริษัทหวังว่า วิธีการดังกล่าวจะช่วยกำจัดพ่อค้าคนกลาง ที่ในบางกรณีมีอยู่หลายชั้น ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้บูคาลาปัก สามารถเข้าถึงผู้บริโภคหลายสิบล้านคน ที่ยังซื้อของตามร้านขายของชำใกล้บ้าน ได้ในทางอ้อม

buka

การริเริ่มดังกล่าว แสดงให้เห็นโอกาสสำหรับการทำธุรกิจในภาคอีคอมเมิร์ซอินโดนีเซียที่มีความท้าทายอยู่มาก ทั้งจากการขาดแคลนโครงสร้างขั้นพื้นฐาน การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และบริการธนาคาร ที่ล้วนแต่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับสตาร์ทอัพที่จะดึงดูดนักช้อป และร้านค้าให้เข้ามาในโลกออนไลน์

นอกจากนี้ ยังถือเป็นสัญญาณถึงวิธีที่การลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรม กำลังผลักดันให้สตาร์ทอัพหาวิธีการที่ไม่เหมือนใคร มาสร้างการเติบโต

“เรากำลังสร้างเครือข่ายร้านโชว์ห่วยขึ้นมา เพราะร้านค้าเหล่านี้มุ่งตรงไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นฐานรากของพีระมิด” อัคหมัด ซากี ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งบูคาปาลัก กล่าว

เขาเปิดเผยด้วยว่า บริษัทได้ทำสัญญากับเจ้าของร้านขายของชำทั่วประเทศอินโดนีเซีย มากถึง 300,000 รายแล้ว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่ “ใหญ่” สำหรับมูลค่าสินค้าโดยรวมรายปี หรือมูลค่าสินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์ม

โดยรวมแแล้ว บูคาลาปัก มีผู้ค้าบนแพลตฟอร์มของตัวเองราว 4 ล้านคน จำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 50 ล้านคน และมีมูลค่าสินค้าโดยรวมเกือบ 4,000 ล้านดอลลาร์ สูงกว่า “เมอร์คาริ” แอพพลิเคชันตลาดชั้นนำจากญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซรายนี้ ยังต้องเดินทางอีกยาวไกลในการสร้างเครือข่ายร้านโชว์ห่วย เนื่องจากมีการประเมินว่า อินโดนีเซียมีร้านโชว์ห่วยอยู่หลายล้านแห่งทั่วประเทศ แต่เหล่านักลงทุนก็พากันตื่นเต้นกับรูปแบบธุรกิจใหม่นี้ไปแล้ว

ซากี บอกว่า เมื่อปีที่แล้ว นักลงทุนทุ่มเงินลงทุนเข้ามาที่บริษัทราว 400 ล้านดอลลาร์ แลกกับการถือหุ้นข้างน้อย

zaky
อัคหมัด ซากี

นักลงทุนเหล่านี้ รวมถึง แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิส กรุ๊ป ของแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ยักษ์อีคอมเมิร์ซจีน จีไอซี กองทุนบริหารความมั่งคั่งรัฐบาลสิงคโปร์ อีแลง มาห์โกตา เทคโนโลยี หรือเอ็มเทคกรุ๊ป กลุ่มบริษัทสื่ออินโดนีเซีย และนิวโฮป จากจีน

ข้อมูลจากครันช์เบส แสดงให้เห็นว่า นับแต่ได้รับเงินทุนดังกล่าว บูคาลาปักก็ได้กลายมาเป็น “ยูนิคอร์น” รายใหม่ล่าสุดของอินโดนีเซีย จากการมีมูลค่าบริษัทอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์

ขณะซากีบอกด้วยว่า บริษัทของเขากำลังหารือกับนักลงทุนอีกจำนวนหนึ่ง ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการอัดฉีดเพิ่มเติมอีก แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อนักลงทุนกลุ่มนี้

ซีอีโอรายนี้ย้ำด้วยว่า บูคาลาปักถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่รายแรก เพื่อสร้างเครือข่ายร้านโชว์ห่วยขึ้นมา ซึ่งเขายังมีแผนที่จะต่อยอดเรื่องนี้ ด้วยการสร้างระบบให้คะแนนขึ้นมา พร้อมปล่อยกู้เงินก้อนเล็กๆ ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ โดยใช้ฐานข้อมูลทางการค้าของเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ ที่บริษัทมีอยู่เป็นจำนวนมาก

ซากี เปิดเผยว่า เขากำลังพิจารณาแผนขยายธุรกิจบริการทางการเงินให้มากขึ้น ด้วยการเข้าซื้อกิจการบริษัทที่มีใบอนุญาตทำธุรกรรมการเงินได้อยู่แล้ว

ที่มา: Nikkei Asian Review

Avatar photo