Business

’10 ข่าวเด่นธุรกิจ’ แห่งปี ผลกระทบโควิด-19 ปีแห่งความยากลำบาก

10 ข่าวเด่นธุรกิจแห่งปี มีทั้งธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ จากวิกฤติ โควิด-19 และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงการเดินหน้าเมกะโปรเจ็คของภาครัฐ

รอบปี 2563 ถือเป็นปีแห่งความยากลำบากของหลายธุรกิจ ในทางกลับกัน ก็ยังสร้างโอกาสให้กับหลายธุรกิจ รวมถึงการเดินหน้าลงทุนใหม่ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางภาวะวิกฤติ โดยสามารถสรุปเป็น 10 ข่าวเด่นธุรกิจแห่งปี ดังนี้

10 ข่าวเด่นธุรกิจแห่งปี

โควิด หนุนปีทองอีคอมเมิร์ซ

การแพร่ระบาดของ โควิด-19 อาจส่งผลกระทบธุรกิจส่วนใหญ่ แต่สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ในกลุ่มช้อปปิ้งออนไลน์ กลับได้รับอานิสงส์จากวิกฤติโควิดไปเต็ม ๆ โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ และการปิดสถานบริการที่มีความเสี่ยง มาตรการเว้นระยะห่าง การทำงานที่บ้าน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยหนุนให้อีคอมเมิร์ซเติบโตไม่หยุด จากการที่ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าจากช่องทางออนไลน์จนเรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งปีทองของธุรกิจอีคอมเมิร์ซเลยทีเดียว

จากปัจจัยหนุนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้คาดการณ์ว่า มูลค่าของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือช้อปออนไลน์ จะสูงถึง 220,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 4-5% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งประเทศ โดยเติบโตถึง 35% จากปี 2562 ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 163,300 ล้าน คิดเป็นสัดส่วน 3% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งประเทศ สะท้อนได้ว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

นอกจากนี้ ยังพบว่า คนไทยซื้อสินค้าออนไลน์ ผ่านช่องทาง อีมาร์เก็ตเพลส มากสุด ที่ 47% ตามด้วยโซเชียลมีเดีย 38% และซื้อจากแบรนด์โดยตรง หรือ Brand.com

การมาของ โควิด-19 ทำให้ เส้นทางการซื้อสินค้าของผู้บริโภค (Customer Journey) เปลี่ยนไปสู่ออนไลน์มากขึ้น ยิ่งเกิดโควิดระบาดระลอกใหม่ ที่ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ยิ่งกลายเป็นโอกาสทางของอีคอมเมิร์ซมากขึ้น จนปี 2564 อาจเป็นอีกปีทองของอีคอมเมิร์ซก็เป็นได้

10 ข่าวเด่นธุรกิจแห่งปี

ซีพี ปิดดีล ซื้อเทสโก้ 3.38 แสนล้าน กินรวบค้าปลีก

ดีลสะท้านวงการค้าปลีกในปี 2563 ต้องยกให้กับ เครือซีพี ที่เข้าซื้อกิจการ เทสโก้ โลตัส เพราะในปี 2563 เป็นปีที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จนแทบไม่มีการทาบซื้อกิจการใหญ่ๆ เกิดขึ้น

กลุ่มซีพี ได้กลายเป็นผู้ชนะประมูลเข้าซื้อกิจการของ เทสโก้ ในประเทศไทย และมาเลเซีย เมื่อเดือนมีนาคม 2563 โดยวันที่ 9 มีนาคม บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ได้เข้าซื้อกิขการ เทสโก้โลตัส ผ่านบริษัท ซี.พี.รีเทลโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นจากเครือซีพี 3 บริษัท ได้แก่ ซีพีออลล์ ถือหุ้น 40%} เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง ถือหุ้น 40% และ ซีพี เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ ถือหุ้น 20%

การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ทำให้เครือซีพี มีธุรกิจค้าปลีกของเทสโก้โลตัสในมือ ด้วยจำนวนสาขารวม 1,967 สาขา แบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา, ตลาดโลตัส 179 สาขา และโลตัส เอ็กซ์เพรส 1,574 สาขา ซึ่งทำให้ เครือซีพี ต่อยอดธุรกิจปลายน้ำได้แข่งแกร่ง โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีก ที่ปัจจุบันมี เซเว่นอีเลฟเว่น และแม็คโคร อยู่แล้ว

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ การซื้อกิจการเทสโก้โลตัสครั้งนี้ จะเป็นการกินรวบตลาดค้าปลีกหรือไม่ แม้ว่า คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จะมีคำพิจารณาตัดสินแล้วว่า ไม่เข้าข่ายผูกขาด แต่ยังต้องจับตามองในทางปฏิบัติต่อไป

เมืองการบิน

“บางกอกแอร์เวย์ส” ลงนาม “เมืองการบิน” คว้าสัมปทาน 50 ปี

เมืองการบิน เป็นโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ถูกจับตามองมากที่สุดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 คาบเกี่ยวถึงต้นปี 2563 เพราะนอกจากจะเป็นเมกะโปรเจ็คขนาดใหญ่และกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS) ที่นำโดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ทุ่มเสนอผลตอบแทนให้รัฐมากถึง 305,555 ล้านบาทแล้ว ก็ยังมีประเด็นที่กลุ่มซีพี (CP) ฟ้องร้องในชั้นศาล เพื่อขอให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ รับข้อเสนอได้สำเร็จ

แต่เมื่อเปิดซองผลตอบแทนของกลุ่ม CP ออกมาแล้ว ก็ยังไม่พลิกโผ กลุ่ม BBS ยังคงเป็นผู้เสนอผลตอบแทนมากที่สุดและคว้าสัมปทานอายุ 50 ปีฉบับนี้ไปครอบครอง ท่ามกลางคำถามจากหลายฝ่ายว่า การยื่นข้อเสนอให้รัฐมากถึง 3 แสนล้านบาทในครั้งนี้ คุ้มค่าและทำได้จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สายการบินบางกอกแอร์เวย์และพันธมิตร ได้แถลงข่าวแสดงความมั่นใจ พร้อมประกาศว่าจะใช้เงินดำเนินการและลงทุนทั้งหมด 4 เฟส คิดเป็นมูลค่ารวม 1.86 แสนล้านบาท โดยคาดว่าเฟสแรกจะแล้วเสร็จปี 2567 และรองรับผู้โดยสารได้ 16 ล้านคน

%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2 %E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99 %E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2

ก่อสร้าง ‘รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน’ ได้ฤกษ์ลงนามล็อตใหญ่

หลังจากค้างเติ่งมานาน ในที่สุดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ก็ได้ฤกษ์เดินหน้าอีกครั้ง เมื่อเส้นทางช่วงชุมทางบ้านภาชี-นครราชสีมาผ่านความเห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จึงได้ลงนามสัญญากับผู้รับเหมา 5 สัญญาที่ชนะการประมูล คิดเป็นระยะทางก่อสร้างรวม 101 กิโลเมตร เม็ดเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท

การลงนามสัญญาดังกล่าว นับเป็นการขับเคลื่อนโครงการครั้งใหญ่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟไทย-จีน ยังเหลือสัญญาก่อสร้างที่ยังไม่ลงนามอีก 7 ฉบับและได้เลื่อนกำหนดเปิดให้บริการออกไปเป็นปี 2568 เป็นอย่างน้อย

10 ข่าวเด่นธุรกิจแห่งปี

อสังหาฯ ปีแห่งการลดราคา-ระบายสต๊อก

สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นับเป็นปีที่เผชิญความท้าทายอย่างมาก สำหรับปี 2563 เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากปี 2562 จากมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภาวะหนี้ครัวเรือนสูง การประกาศใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และกระหน่ำซ้ำด้วย วิกฤติไวรัส โควิด-19 ในปีนี้

ทั้งนี้ เห็นได้จากภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ชะลอตัวอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก แม้สถานการณ์หลังการล็อกดาวน์จะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงต้องจับตาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ และความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองเป็นอีกปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งต้องจับตามองต่อไปว่าภาครัฐจะออกมาตรการใดมาช่วยกระตุ้นการเติบโตในตลาดต่อจากนี้

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้บริโภค ถือได้ว่า เป็นโอกาสทองของผู้ซื้อ และนักลงทุนระยะยาว ที่มีความพร้อมทางการเงิน เนื่องจากผู้ขายยังคงใช้สงครามราคา เพื่อเร่งระบายสต็อกคงค้าง ทำให้ราคาอสังหาฯ ช่วงนี้ยังไม่สูงเกินไป โดยเฉพาะรูปแบบคอนโดฯ และทาวน์เฮ้าส์

ภาษีที่ดิน1

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ กดดันสร้างแรงเทขายที่

พ.ร.บ.ภาษีที่กินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ 13 มีนาคม 2562 และกำหนดจะเริ่มเก็บภาษีตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ ขยายเวลาการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากภายในเดือน สิงหาคม 2563 เป็นภายในเดือน ตุลาคม 2563

พร้อมกันนี้ ยังได้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ของภาระภาษีที่ต้องเสียทั้งหมดในปี 2563 ทั้งกรณีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ดินที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ นอกจากเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย รวมถึงที่รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ โดยให้เจ้าของหรือผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสียภาษีเพียง 10% ของภาระภาษีที่ต้องเสียได้ เพื่อบรรเทาภาระภาษีในปี 2563 ให้กับประชาชน และเลื่อนเวลาการชำระภาษีจากเดิมในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีมาเป็นเดือนสิงหาคมแทน

สำหรับ พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ได้ประกาศ ณ วันที่ 12 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อมาแทนที่กฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 โดยมีจุดประสงค์เพื่อ กระจายอำนาจไปยังท้องถื่น ลดการถือครองที่ดินเพื่อเก็งกำไร เป็นต้น โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป สำหรับผู้ที่มีที่อยู่อาศัยหลังแรกและมีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากที่อยู่อาศัยมีมูลค่าเกินกว่านั้น จึงจะเสียภาษีตามอัตราก้าวหน้า

ภาษีที่ดินใหม่ มีผลกระทบกับที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ไม่เกิดประโยชน์ โดยจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราค่อนข้างสูง ทำให้เจ้าของที่ดินทัังหลายไม่อยากถือครองที่ดินเพราะมีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก ดังนั้นกฏหมายฉบับใหม่นี้อาจทำให้เกิดแรงขายจากเจ้าของที่ดินเป็นจำนวนมาก

ธุรกิจกลุ่มสุขภาพ อานิสงค์โควิด 

ท่องเที่ยว10963

ท่องเที่ยวดิ่งเหว โควิดซัดสองระลอก

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ โควิด-19 หนักหน่วงที่สุด เนื่องจากการปิดเมือง ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเป็น 0% และคาดว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงปลายปี แต่ฝันก็ทลายลงเมื่อเกิดโควิดระบาดระลอกใหม่ในไทย โดยเฉพาะปลายปี ซึ่งเป็ยช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ โควิด-19 อย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ซึ่งเป็นวันหยุดยาวต่อเนื่อง 4 วัน ระหว่างวันที่ 31 ธ.ค. 2563 – 3 ม.ค. 2564 ททท. คาดว่าจะมีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางภายในประเทศ 2.75 ล้านคน-ครั้ง และมีการใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่มากกว่า 10,700 ล้านบาท โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 37% ปี 2564

ขณะที่ภาพรวม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 อย่างหนัก ทำให้คาดการณ์ว่า รายได้รวมจากการท่องเที่ยวจะลดลงเหลือ 8.3 แสนล้านบาท ลดลง 72% จาก 3 ล้านล้านบาท ในปี 2562 โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6.7 ล้านคน ลดลง 83% จาก 39.8 ล้านคนในปี 2562 จากการล็อกดาวน์ประเทศ และจนถึงปัจจุบันแม้จะคลายล็อกดาวน์ ก็ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อยมาก

สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวไทย ที่เริ่มเดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้ช่วงเดือนกรกฏาคม ที่ผ่านมา พบว่า ตัวเลขล่าสุดมีการเดินทางในประเทศสะสมประมาณ 81 ล้านคน-ครั้ง โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน ที่การเดินทางฟื้นกลับมาเท่าระดับเดียวกันของปี 2562 ที่ประมาณ 15-16 ล้านคน-ครั้ง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยคาดว่าทั้งปี ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะอยู่ประมาณ 95 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 48% จากปี 2562 อยู่ที่ 172 ล้านคน-ครั้ง

food delivery

เดลิเวอรี่ แข่งเดือด รายใหม่เข้า รายเก่าป้องตลาด

จากสถานการณ์ โควิด-19 ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารกลับไปกินที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือเดลิเวอรี่ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นดาวเด่น และได้อานิสงส์จากสถานการณ์โควิด ที่ทำให้ภาพรวมตลาดเติบโตขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2563 จะมีการจัดส่งอาหารผ่านบริการ ฟู้ดเดลิเวอรี่ 66-68 ล้านครั้ง เติบโตขึ้นจากปีก่อน 78-84% และมีมูลค่าตลาดสูงถึง 3.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังพบว่า มีจำนวนร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง สมัครเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ไม่น้อยกว่า 20,000 ต่อสัปดาห์ ส่งผลทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 63 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเติบโตสูงถึง 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ความน่าสนใจและโอกาสในตลาดนี้ สะท้อนได้จากการเข้ามาร่วมวงชิงตลาด ของผู้ประกอบการรายใหม่ ขณะที่การแข่งขันในตลาดจากผู้ประกอบการรายเดิมเองก็รุนแรงอยู่แล้ว ดังนั้น จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า อุณหภูมิการแข่งขันในสมรภูมินี้ จะทวีความรุนแรงขึ้นแน่นอน

ปัจจุบัน ฟู้ดเดลิเวอรี่ มียักษ์ใหญ่คุมตลาด 4 ราย ได้แก่ ไลน์แมน วงใน, แกร็บ, ฟู้ดแพนด้า และโกเจ๊ก นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นรายใหม่ อย่าง โรบินฮู้ด (Robinhood) ที่ดำเนินการโดยบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ ที่เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภค

แจกเงิน 3000 คนละครึ่ง ๒๐๑๒๒๒

“เป๋าตัง” แอปพลิเคชันปังที่คุณต้องมี!

“เป๋าตัง” กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ แอปพลิเคชันมาแรงภายใต้การดูแลของ “ธนาคารกรุงไทย” ที่ทำขึ้นมาเพื่อรองรับสังคมไร้เงินสด “เป๋าตัง” เริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการจากโครงการ “ชิมช้อปใช้” ซึ่งเป็นช่องทางหลักของการใช้เงินจำนวน 1,000 บาทที่ได้มาจากการกดรับสิทธิ์ของโครงการ โดยผู้ที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์จะต้องใช้จ่ายเงินจำนวน 1,000 บาทนี้ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เท่านั้น

โดยล่าสุด ผู้ที่ลงทะเบียน “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “คนละครึ่ง” สำเร็จก็ต้องโหลดแอปพลิเคชันมาใช้คู่กันทุกครั้ง จนทำให้การลงทะเบียน “คนละครึ่งเฟส 2 ” ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยถึงกับต้องปิดระบบชั่วคราวเพื่อทำการแก้ไขให้รองรับการยืนยันตัวตนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากจะใช้ “เป๋าตัง” ควบคู่กับการใช้สิทธิในโครงการของรัฐแล้ว ยังสามารถอำนวยความสะดวกให้กับเราได้อีก ทั้งเติมเงินได้ง่าย ทุกค่ายมือถือ เติมเงินค่าทางด่วน ทั้ง Easy Pass M-Pass รวมถึงรองรับบริการพิเศษ สำหรับ ลูกค้ากยศ.ในการดูข้อมูล และชำระเงินอีกด้วย

fig 08 03 2020 07 07 54

“ธุรกิจสุขภาพ” เติบโตตามเทรนด์ แถมได้แรงหนุนจากโควิด-19

สังคมผู้สูงอายุและกระแสรักสุขภาพได้กลายเป็นเมกะเทรนด์ ผลักดันให้ธุรกิจสุขภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในปีนี้ก็ยังได้รับอานิสงค์จากการระบาดของไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจนี้เติบโตมากขึ้น

โดยช่วงกลางปีที่ผ่านมา บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตถุงมือยางอันดับ 3 ของโลก ได้จำหน่ายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก (IPO) ด้วยราคา 34 บาทต่อหุ้น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี จนราคาหุ้นเคยวิ่งขึ้นไปสูงสุดถึงระดับ 90 บาท

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่ามีผู้มาขอส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2563 ทั้งในแง่จำนวนโครงการและมูลค่า ซึ่งคาดว่ายังคงเป็นทิศทางนี้ต่อเนื่องไปในปี 2564 โดยส่วนหนึ่งมาจากการกระตุ้นของภาครัฐ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo