Business

ส่งออกปี 64 โฟกัส 3 กลุ่มประเทศคู่ค้า มั่นใจฟื้นตัว จับตาโควิดปัจจัยเสี่ยงปีหน้า

ส่งออกปี 64 พาณิชย์ แบ่งตลาด 3 กลุ่มประเทศคู่ค้า จาก 100 ประเทศ มั่นใจปีหน้า ส่งออกฟื้นตัวแน่ แต่ยังหวั่นโควิด-19 ระบาดซ้ำสอง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้วิเคราะห์ศักยภาพการนำเข้าของประเทศคู่ค้า 100 ประเทศจากทุกภูมิภาค และนำประเทศที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง มาคัดเลือกหาประเทศคู่ค้า ที่ไทยควรมีนโยบาย ขยายความสัมพันธ์ทางการค้า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ที่ไทยต้องวางแผน ในการเจาะตลาด เพื่อขับเคลื่อน ส่งออกปี 64 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ส่งออกปี 64

กลุ่มแรก เป็นประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง ความต้องการสินค้านำเข้า เป็นสินค้าประเภทเดียวกับ ที่ไทยส่งออกหลายรายการ และไทยส่งออกไปยังประเทศนั้น ได้สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศคู่ค้าแล้ว

ทั้งนี้ ไทยต้องรักษาฐานลูกค้า และสร้างความจงรักภักดี (Loyalty) ต่อสินค้าไทย และหากสามารถเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อให้ไทยมีแต้มต่อได้ จะเป็นผลดีอย่างยิ่ง ได้แก่ อเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ แคนาดา) ยุโรปตะวันตก (เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส) โอเชียเนีย (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย

กลุ่มสอง เป็นประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง แต่ไทยส่งออกไปยังประเทศคู่ค้านั้น ในระดับปานกลาง สามารถพัฒนาให้เป็นประเทศคู่ค้า ที่มีการค้าในระดับสูงได้ โดยไทยต้องมุ่งทำตลาดเชิงรุก เร่งเจรจาแก้ไขปัญหา และอุปสรรค เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาด หรือหากเจรจาจัดทำ FTA จะทำให้ไทยมีแต้มต่อ หรือได้รับประโยชน์มากขึ้น

พิมพ์ชนก วอนขอพร 1
พิมพ์ชนก วอนขอพร

ในกลุ่มนี้ ประเทศที่ไทยควรให้ความสำคัญลำดับแรก ส่วนใหญ่เป็น ประเทศในยุโรปเหนือ หรือสแกนดิเนเวีย (นอร์เวย์ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์) ยุโรปตะวันออก (สโลวีเนีย เช็ก ออสเตรีย ฮังการี โปแลนด์) และบางประเทศตะวันออกกลาง (กาตาร์ และอิสราเอล) ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่ประชาชน มีรายได้ต่อหัวสูง

กลุ่มสาม เป็นประเทศคู่ค้า ที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง แต่ไทยส่งออกไปยังประเทศคู่ค้านั้นน้อย กลุ่มประเทศเหล่านี้ เป็นประเทศที่ไทย ควรเร่งศึกษาตลาด เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มเติม ได้แก่ ไอซ์แลนด์ เอสโตเนีย ลิทัวเนีย และคาซัคสถาน

ขณะที่ การส่งออกในปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยสนับสนุน คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการค้าโลก ที่มีแนวโน้มดีขึ้น นโยบายของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ มีแนวโน้มจะผ่อนคลายความตึงเครียด ของสงครามการค้า และฟื้นฟูความสัมพันธ์ ระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสหรัฐฯ-ยุโรป ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ และการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยง จากการแพร่ระบาดระลอกสอง ของโควิด-19 นโยบายของนายโจ ไบเดน อาจกระทบการส่งออก ของสินค้าไทย บางรายการ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ในส่วนของสินค้าไทย ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ยังคงเป็น 3 กลุ่มสินค้า ที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิต และพฤติกรรมใหม่ ได้แก่ 1. สินค้าอาหาร 2. สินค้าสำหรับใช้ทำงานที่บ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้า และ 3. สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ และลดการแพร่ระบาด

ส่วนกลุ่มสินค้าคงทน และฟุ่มเฟือย มีแนวโน้มหดตัว จากการชะลอตัวของการผลิต และการบริโภค เช่น ยานยนต์ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง นาฬิกา และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo