Technology

บำรุงราษฎร์จับมือ ‘ไบโอเชีย’ ดึงเอไอ-บิ๊กดาต้าตรวจหาจุลชีพก่อโรค

ดร. นีม บี โอฮารา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอไบโอเชีย
ดร. นีม บี โอฮารา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอไบโอเชีย

บำรุงราษฎร์จับมือ “ไบโอเชีย” (Biotia) สตาร์ทอัพจากสหรัฐอเมริกานำร่องใช้ปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้าช่วยตรวจหาจุลชีพก่อโรค – ดื้อยาแล้ว โดยโครงการนำร่องดังกล่าวจะใช้ปัญญาประดิษฐ์ของไบโอเชียมาใช้ตรวจหาชนิดของจุลชีพ (แบคทีเรีย) ที่ก่อโรคได้รวดเร็วขึ้นจากเดิมที่อาจต้องเพาะเชื้อนานหลายสัปดาห์ ให้เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที และแม่นยำมากขึ้น

สำหรับเทคโนโลยีของไบโอเชียนี้มีชื่อว่า Next Generation Sequencing (NGS) ซึ่งเป็นการหาลำดับเบสในสารพันธุกรรมของแบคทีเรีย และนำมาใช้ร่วมกับการซอฟต์แวร์ที่ทางสตาร์ทอัพพัฒนาขึ้น ซึ่งทางสตาร์ทอัพรายนี้อ้างว่าทำให้สามารถระบุชนิด และลักษณะของแบคทีเรียได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 1 ปี ซึ่งทางโรงพยาบาลตั้งเป้าว่าจะสามารถเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยได้ 1,000 รายมาใช้ในการวิเคราะห์ รวมถึงมีการตั้งฐานเทคโนโลยีนี้ไว้ที่ศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ด้วย (จะมีเอกสารให้คนไข้เซ็นต์ยินยอมในการใช้ข้อมูลเพื่อการวิจัย ซึ่งคนไข้สามารถยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ได้)

ส่วนคำถามที่ว่า เทคโนโลยีนี้เป็นความท้าทายอย่างไรต่อวงการการแพทย์ของไทย คำตอบอาจเป็นเรื่องของเวลา เนื่องจากกระบวนการเพาะเชื้อเพื่อหาชนิดของแบคทีเรียก่อโรคและแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะแบบดั้งเดิมนั้น เป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานกว่าจะเสร็จสิ้น รวมถึงต้องใช้แรงงานของบุคลากรเป็นจำนวนมาก

ดร. ธีรเดช เวียงธีรวัฒน์ Director of Research Development บำรุงราษฎร์ pic3 resize
ดร. ธีรเดช เวียงธีรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

อีกทั้งเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและระดับโลก อ้างอิงจากรายงานหัวข้อภูมิทัศน์ของสถานการณ์และการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย ก็คือการเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยา ที่มีสูงถึงปีละ 700,000 ราย ขณะที่ประเทศไทย คาดการณ์เบื้องต้นว่ามีการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 87,751 ราย และ 40% เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาหรือเท่ากับ 38,481 ราย มูลค่ายาต้านแบคทีเรียที่ใช้รักษาคิดเป็น 2,539 – 6,084 ล้านบาท และเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท

องค์การอนามัยโลกระบุว่า แนวโน้มการดื้อยาที่เกิดขึ้นนี้กำลังทำให้โลกเข้าสู่ยุคหลังยาปฏิชีวนะ หรือ Post-antibiotic era ที่การติดเชื้อแบคทีเรียเพียงเล็กน้อยก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และอาจทำให้แพทย์แผนปัจจุบันเข้าสู่ยุคแห่งการล่มสลาย เนื่องจากไม่สามารถผ่าตัด หรือรักษาคนไข้ด้วยวิธีปกติได้อีกต่อไป เนื่องจากการทำหัตถการทางการแพทย์เหล่านี้ต้องอาศัยยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อนั่นเอง

รายงานดังกล่าวยังชี้ด้วยว่า หากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ในอีก 35 ปีข้างหน้า อัตราการเสียชีวิตดังกล่าวอาจสูงถึง 10 ล้านคน โดยทวีปเอเชียและแอฟริกาจะเป็นทวีปที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ 4.7 และ 4.2 ล้านคน ตามลำดับ รวมถึงอาจมีผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึง 3,500 ล้านล้านบาทตามมาได้

ดร.ธีรเดช เวียงธีรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เผยว่า กระบวนการในการใช้ข้อมูลของคนไข้จะสอดคล้องกับกฎหมายสำคัญต่าง ๆ เช่น GDPR ของสหภาพยุโรป ขณะที่ ดร.นิม บี. โอฮารา (Niamh B. O’hara) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของไบโอเชียกล่าวว่า  ข้อมูลของคนไข้ที่เข้าร่วมโครงการนำร่องนี้จะได้รับการเข้ารหัส เพื่อรักษาความปลอดภัยด้วย

นอกจากนั้น ดร.โอฮารา ชี้ด้วยว่า การมีแนวทางใหม่ ๆ ที่ช่วยระบุชนิดของจุลชีพได้อย่างรวดเร็วนั้น จะทำให้แพทย์สามารถรักษาอาการติดเชื้อได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หรือในรายที่เป็นหนักแล้วได้อย่างทันท่วงที และลดความเสี่ยงที่จะเกิดการดื้อยาลงได้นั่นเอง

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight