Environmental Sustainability

รู้จักเงิน “Claw Back” เครื่องมือบริหารจัดการค่าไฟฟ้า

“ค่าไฟฟ้า” ถือเป็นอีกบทบาทสำคัญของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แม้ว่าหลายคนยังสับสน หรือ อาจเข้าใจผิด คิดว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของการไฟฟ้า

ขณะเดียวกันการกำกับดูแลค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน กกพ. ยังต้องบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐในแต่ละช่วงเวลานั้นด้วย และเครื่องมืออีกอย่างที่สำคัญที่ถูกนำมาใช้ คือ เงินClaw Back เครื่องมือบริหารจัดการค่าไฟฟ้า

จะเห็นว่าหลายครั้งในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจประสบปัญหา “ข้าวยากหมากแพง” กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าสูง ภาครัฐจะเข้ามาส่งสัญญาณต่อ กกพ. ให้กำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงเวลานั้น ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุด และต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงเป็นที่มาของมาตรการ “ตรึง” หรือ “ลด” ค่าไฟฟ้าในหลายๆครั้ง แม้ว่าในบางช่วงเวลาจะสวนทางกับต้นทุน ค่า Ft หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร ที่ปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม

เงิน Claw Back

เครื่องมือสำคัญที่ กกพ. มักจะหยิบขึ้นมาใช้บริหารจัดการค่าไฟฟ้า ก็คือ “เงินClaw Back” หรือ เข้าใจง่าย ๆ คือ เงินที่ กกพ. เรียกคืนมาจากการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในส่วนที่ไม่ได้เป็นไปตามแผนการลงทุน ที่ใช้ในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ที่ยื่นเสนอให้ กกพ. พิจารณาในช่วงเวลานั้น

เงิน Claw Back เครื่องมือบริหารจัดการค่าไฟฟ้า

“เงิน Claw Back” เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง ค่า Ft หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร ที่กำหนดให้ กกพ. พิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้า จากเงินลงทุนที่ต่ำกว่าแผน (Claw Back) โดยนำค่าใช้จ่ายการลงทุนที่ต่ำกว่าแผน ซึ่งคำนวณจากอัตราส่วนการลงทุน จาก เงินรายได้ (Self-Financial Ratio : SFR) ในอัตราขั้นต่ำ 25% พร้อมด้วยค่าปรับ และค่าสูญเสียโอกาสทางการเงิน ของผู้ใช้ไฟฟ้าในอัตราไม่น้อยกว่า MLR* เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ 5 ลำดับแรกของประเทศไทย บวกสอง มาปรับลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน

หรืออธิบายให้เข้าใจมากขึ้นคือ เมื่อ 3 การไฟฟ้า มีรายได้จากการขายไฟฟ้า รายได้นั้นได้บวกรวมต้นทุนโครงการลงทุนต่าง ๆ และผลตอบแทนการลงทุนตามแผนที่แจ้งไว้กับ กกพ. เข้าไปไว้ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน ที่ถูกคำนวณล่วงหน้าไปแล้ว

เงิน Claw Back

แต่เมื่อถึงเวลาแจ้งในแผนการลงทุนของ 3 การไฟฟ้า พบว่าโครงการลงทุนยังไม่ได้ดำเนินการตามแผนที่แจ้งไว้ หรือถูกชะลอออกไป ทาง กกพ. ก็จะสามารถเรียกเงินในส่วนที่ถูกคิดคำนวณไว้เกิน ซึ่งรวมอยู่ในต้นทุนค่าไฟฟ้า ที่ถูกคำนวนล่วงหน้าไปก่อนแล้ว โดยนำกลับมาคืน พร้อมอัตราดอกเบี้ย จึงเรียกเงินในส่วนนี้ว่า “เงินClaw Back”

ส่วนการเรียกคืน เงินClaw Back นั้น ที่ผ่านมา กกพ. จะพิจารณากำกับดูแล และเรียกคืนเป็นรายปี เพื่อนำมาบริหารจัดการค่าไฟฟ้า หรือใช้บรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าตามนโยบายของภาครัฐ เช่น ในช่วงที่ค่าครองชีพสูงจากผลกระทบเงินเฟ้อ หรือช่วงที่ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า จะผันผวนปรับขึ้นลงสะท้อนราคาน้ำมันดิบย้อนหลัง 6-12 เดือน

ดังนั้นมักจะเห็น กกพ. นำเงิน Claw Back มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพยุง ค่า Ft หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงนั้นๆ และเงิน Claw Back ยังเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ที่รวมอยู่ใน กองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

การไฟฟ้า e1638262479947

ในปี 2563 กกพ. ได้นำเงินClaw Back ในส่วนนี้ มาใช้พยุง ค่า Ft หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร ตามคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ที่เห็นชอบมาตรการเยียวยาการลดภาระค่าไฟฟ้า ตามมาตรการของกระทรวงพลังงานในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัย รวม 22 ล้านราย

“เงินClaw Back” จึงเป็นเครื่องมือบริหารจัดการค่าไฟฟ้าที่สำคัญในอดีต และยังสืบเนื่องต่อไปในอนาคต ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนผู้จ่ายค่าไฟฟ้า และ 3 การไฟฟ้าที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ.

*MLR- Minimum Loan Rate อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight