COVID-19

‘หมอเหรียญทอง’ แนะ แค่โรงพยาบาลสนาม ‘ไม่พอ’ ต้องมี ‘หน่วย ไอ ซี ยู สนาม’

แค่โรงพยาบาลสนาม ไม่พอ หมอเหรียญทอง แนะ ต้องสร้าง ปฏิบัติการร่วม-หน่วย ไอ ซี ยู สนาม ใช้โรงพยาบาลทหารทั่วประเทศ รองรับผู้ป่วยโควิด

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “เหรียญทอง แน่นหนา” หรือ หมอเหรียญทอง แนะ แค่โรงพยาบาลสนาม ไม่พอ ต้องสร้างหน่วยปฏิบัติการร่วม ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ และ หน่วย ไอ ซี ยู สนาม รวมทั้งเสนอให้ใช้โรงพยาบาลทหาร ทั่วประเทศ เป็น โรงพยาบาลเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำพื้นที่ โดยระบุว่า

แค่โรงพยาบาลสนาม ไม่พอ

“ข้อเสนอแนะโรงพยาบาลสนามและปฏิบัติการร่วมฯ

1. รพ.สนามในพื้นที่ควบคุมที่ปิดเมืองและปิดพื้นที่

2. รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อรับการส่งต่อจาก รพ.สนามตามข้อ 1

ผมขอขยายความดังนี้ครับ

1. รพ.สนามในพื้นที่ควบคุม ที่ปิดเมืองและปิดพื้นที่ ดังเช่น จ.สมุทรสาคร

เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก และเพื่อให้การตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก และสอบสวนโรค สามารถคัดแยกกักกันผู้ติดเชื้อ และผู้ต้องสงสัยควบคู่กันไปด้วย โดยเน้นย้ำว่า ไม่ใช้โรงพยาบาลประจำถิ่น ไม่ว่าจะโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ในการกักกัน หรือสอบสวนโรคนะครับ

เพราะนอกจาก จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแล้ว ยังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อจำนวนมากด้วย ทั้งยังส่งผลให้ โรงพยาบาลประจำถิ่น พร่องขีดความสามารถ ในทางการแพทย์ลง ส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยทั่วไป ที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 (Non-COVID 19) ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าผู้ป่วยโควิด-19 (COVID 19) เสียด้วยซ้ำ แต่ต้องถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่ควบคุม โดยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาโรคทั่วไป ได้อย่างสมควร ซึ่งจะส่งผลเสียกระทบต่อผู้ป่วยทั่วไป ที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ครับ

เหรียญทอง แน่นหนา
พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา

ดังนั้น “โรงพยาบาลสนาม (Field hospital” จึงเป็นสิ่งจำเป็น ที่ ศบค.ต้องรีบดำเนินการ ลำพังอัตรากำลังพล และสิ่งอุปกรณ์ในสังกัดหน่วยขึ้นตรง กระทรวงสาธารณสุข และส่วนราชการจังหวัดสมุทรสาคร อาจไม่เพียงพอ  จึงต้องเป็น “ปฏิบัติการร่วม (Joint operation)” พลเรือน ตำรวจ ทหาร จากส่วนราชการต่าง ๆ เช่น กระทรวงกลาโหม , กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ

ซึ่งอาจหมายรวมถึง จิตอาสาพลเรือน นอกสังกัดราชการ เช่น จิตอาสาบุคลากรทางการแพทย์ ในการสนับสนุนด้วยเพื่อให้ “ปฏิบัติการร่วมโรงพยาบาลสนาม” ระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร สัมฤทธิผล

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ยังเป็นส่วนราชการหลัก ในการควบคุมบังคับบัญชา หน่วยสมทบ จากส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้ปฏิบัติการร่วมโรงพยาบาลสนาม มีความเป็นเอกภาพ

ทั้งนี้การสั่งการส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อประกอบกำลัง จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และปฏิบัติการร่วมโรงพยาบาลสนาม ระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร อยู่ในอำนาจของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.

ในการระบาดระลอกแรก เมื่อห้วงเดือน ก.พ.-พ.ค.63 ได้มีแผนการจัดตั้ง “โรงพยาบาลสนาม (Field hospital)” ที่กองทัพ หรือส่วนราชการกลาโหม ได้เตรียมการไว้ ด้วยการใช้อาคารโรงเรือนทหาร โรงเรียน สถานที่ต่าง ๆ ของรัฐ ฯลฯ แล้ว

ด้วยแนวทางนี้ จะช่วยให้โรงพยาบาลประจำถิ่น ในพื้นที่ควบคุม ยังคงขีดความสามารถในทางการแพทย์ ในการรักษาผู้ป่วยทั่วไป ที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 (Non-COVID 19) ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าผู้ป่วยโควิด-19 (COVID 19) แต่ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ควบคุม ดังเช่น จังหวัดสมุทรสาคร ให้สามารถเข้าถึงการรักษาโรคทั่วไปได้อย่างสมควร หรือได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระลอกใหม่น้อยที่สุด

113

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ควบคุม ดังเช่น จังหวัดสมุทรสาคร สมควรจะต้องมี “หน่วย ไอ ซี ยู สนาม” (Field ICU) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อให้ลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนักออกนอกพื้นที่ควบคุมให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะกระทำได้

การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และปฏิบัติการร่วมโรงพยาบาลสนาม ระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร จิตอาสา จะสามารถใช้เป็นต้นแบบนำร่อง หากเกิดการระบาดเป็นพื้นที่ในภูมิภาคอื่น ๆ

2. รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อรับการส่งต่อจาก รพ.สนามตามข้อ 1

เป็นข้อเสนอเพื่อเตรียมการไว้ ในกรณีที่สถานการณ์การติดเชื้อ ได้แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง นอกพื้นที่ควบคุม ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด ที่มีลักษณะการระบาดเป็นภูมิภาค หรือเป็นภาค หรือแม้กระทั่งทั่วราชอาณาจักรก็ตาม ดังสรุปต่อไปนี้

2.1 กำหนดให้ โรงพยาบาลทหาร ทั่วราชอาณาจักร ในทุกเหล่าทัพ สังกัดกระทรวงกลาโหม และหมายรวมถึงโรงพยาบาลใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็น “โรงพยาบาลเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด-19” ประจำพื้นที่ภาคและ/หรือภูมิภาค

แต่ด้วยปัจจัยจำกัดในด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ ของกองทัพ จึงให้กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มเติมกำลังขีดความสามารถทางการแพทย์ สนับสนุนโรงพยาบาลทหาร เพื่อให้โรงพยาบาลทหารและตำรวจ เป็น “โรงพยาบาลที่รับการส่งต่อผู้ติดเชื้อโควิด-19” ที่เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ควบคุม ดังเช่นจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีอาการป่วย และจำเป็นต้องเข้ารักษา ในโรงพยาบาลนอกพื้นที่ควบคุม

2.2 กำหนดให้กองพันเสนารักษ์ ทุกกองพัน และ/หรือหน่วยสายแพทย์จากทุกเหล่าทัพ ซึ่งหมายรวมถึง ตำรวจด้วย ทำหน้าที่เป็น “หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19” ภายใต้การควบคุมสั่งการ ของกระทรวงสาธารณสุข และเพิ่มเติมกำลัง โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ) ที่ทำหน้าที่ศูนย์ควบคุมประสานงาน เพื่อให้ปฏิบัติการเคลื่อนย้าย ผู้ป่วยโควิด-19 ออกนอกพื้นที่ควบคุม ระหว่างภูมิภาค หรือระหว่างจังหวัด เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

2.3 กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุดมศึกษา สนับสนุนบุคลากร และทรัพยากร เพื่อเพิ่มเติมขีดความสามารถโรงพยาบาลทหารให้สามารถเป็น “โรงพยาบาลเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 นอกพื้นที่ควบคุม” ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

2.4 กำหนดให้สถาบันบำราศนราดูร และ/หรือสมทบด้วย โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์เป็น “โรงพยาบาลตติยภูมิขั้นสูงเฉพาะผู้ป่วยโควิด ที่จำเป็นต้องรับการรักษาเฉพาะทางขั้นสูง ที่เกินขีดความสามารถ โรงพยาบาลทหารตำรวจ”

ด้วยความปรารถนาดีครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo