Lifestyle

‘โรคอ้วนในเด็ก’ วิกฤติสุขภาพเด็กเอเชีย

นักวิจัยเตือนโรคอ้วนในเด็กเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จี้หามาตรการเพิ่ม เพื่อกระตุ้นการใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดีมากขึ้น และลดแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข

โรคอ้วนในเด็ก

นายศรีธาร์ ธรรมปูริ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารปลอดภัยและโภชนาการ องค์การอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ระบุว่า ระหว่างปี 2543-2559 จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ในเอเชีย แปซิฟิก เพิ่มขึ้น 38% และปัญหานี้กำลังขยายตัวมากขึ้น

“อัตราการขยายตัวของโรคอ้วนในเอเชียแปซิฟิก สูงกว่าในหลายประเทศ ซึ่งแม้สหรัฐจะมีอัตราการเกิดโรคอ้วนมากสุด แต่จำนวนเด็กที่มีน้ำหนักเกินในเอเชียแปซิฟิก กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และประเทศจำนวนมากในภูมิภาคนี้ ติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีภัยคุกคามทางด้านสุขภาพมากสุดในโลก”

รายงานการสำรวจประเทศสมาชิก ที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่า สหรัฐ เม็กซิโก นิวซีแลนด์ และฮังการี อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีโรคอ้วนในผู้ใหญ่สูงสุด ส่วนญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อยู่ในระดับต่ำสุด

การที่จำนวนเด็กในเอเชียแปซิฟิก มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าวิตก เพราะเด็กๆ ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน มีความเสี่ยงมากขึ้น ที่จะเป็นโรคอ้วนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ และเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคต่างๆ ทั้ง เบาหวานประเภท 2 ความดันโลหิตสูง และโรคตับ

โรคอ้วนในเด็ก

มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีคนน้ำหนักเกินมาตรฐานมากสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ซามัว ตองกา และนาอูรุ เป็นประเทศที่มีจำนวนคนอ้วนมากสุดในแปซิฟิก เช่นเดียวกับออสเตรเลีย ที่มีผู้ป่วยโรคอ้วนอยู่เป็นจำนวนมาก

ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ยังแสดงให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับพลเมืองเอเชียแปซิฟิกที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน อยู่ที่ 1.66 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี

เหล่านักวิจารณ์บอกด้วยว่า ระดับความร่้ำรวยที่เพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนคนที่มีน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้น

“ภูมิภาคนี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาหารก็มีราคาที่ถูกลง” แมทเธียส เฮลเบิล นักเศรษฐศาสตร์เอดีบี ในกรุงโตเกียว ระบุ

ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนทำน้ำหนักพุ่ง

รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของคนที่เปลี่ยนไป ทำให้ปัญหาเรื่องโรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานรุนแรงขึ้น

กลุ่มนักวิจัยอธิบายว่า นอกจากเศรษฐกิจที่ขยายตัว จะทำให้เกิดการบริโภคมากขึ้นแล้ว ผู้คนในเอเชียแปซิฟิก ยังเคลื่อนย้ายออกจากภาคเกษตร เข้าสู่ภาคการผลิตมากขึ้น ตามด้วยการเข้าไปทำงานในภาคบริการ ที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายมากนัก

โรคอ้วนในเด็ก

การที่ผู้คนในเมืองต้องใช้เวลาในการเดินทางยาวนานขึ้น เพราะปัญหาด้านระบบขนส่งมวลชน และโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ไม่เหลือเวลาที่จะทำอาหารกินเองมากนัก จนต้องเลือกรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลัก

ไลฟ์สไตล์รูปแบบนี้ ทำให้เกิดการบริโภคอาหารแปรรูปที่อำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งอาหารเหล่านี้มักมีไขมันสูง มีเกลือ และน้ำตาลเป็นจำนวนมาก

นายธรรมปูริ จากเอฟเอโอ บอกด้วยว่า ผู้คนในภูมิภาคนี้ ยังมีรูปแบบการรับประทานอาหารที่ขาดความสมดุลด้านโภชนาการ โดยส่วนใหญ่มักขาดผักในแต่ละมื้ออาหาร

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ อธิบายด้วยว่า เมื่อผู้คนมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ก็มักจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามมา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข ที่เพิ่งมีการจัดตั้งขึ้นมาในหลายประเทศเอเชียแปซิฟิก

Avatar photo