Properties

AREA เสนอธปท.คุมดาวน์ 20% เก็บภาษีซื้อบ้านหลังที่สอง

ดร.โสภณ พรโชคชัย
ดร.โสภณ พรโชคชัย

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ (11 ต.ค.) ตนได้รับเชิญจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ไปแสดงความเห็นต่อ แนวนโยบาย Macroprudential สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย จึงขอนำเสนอความเห็นในสิ่งที่ ธปท.ควรทำในระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัย ดังนี้

1.ธปท. ควรกำหนดให้สถาบันการเงินอำนวยสินเชื่อในวงเงินที่ 80% ของมูลค่าตลาด เพราะการให้สินเชื่อแทบ 100% เช่นทุกวันนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสถาบันการเงิน และอาจทำให้มีผู้หวังกู้เพื่อนำเงินไปใช้นอกระบบสถาบันการเงินก็เป็นไปได้ การให้เงินดาวน์ที่ 20% ทำให้ผู้ซื้อชั่งใจที่จะก่อหนี้ และเสียดายเงินดาวน์หากทิ้งไป แต่การนี้อาจมีบางท่านแย้งว่า การชะลอการซื้อจะทำให้ราคาบ้านเพิ่มขึ้น ข้อนี้ไม่ต้องกังวล เพราะการซื้อที่น้อยลง ทำให้ราคาบ้านไม่เพิ่มขึ้นมากนัก และขณะนี้ราคาวัสดุก่อสร้างก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

2.สำหรับมาตรการการป้องกันการเก็งกำไร การลงทุนซื้อเพื่อปล่อยเช่า การผ่องถ่ายเงินจากระบบสถาบันการเงินไปสู่ธุรกิจนอกระบบ ธปท.ควรดำเนินการโดย ประการแรก การเพิ่มสัดส่วนเงินดาวน์ให้สูงขึ้นอีก เช่น เพิ่มเป็นประมาณ 30-40% ของมูลค่าตลาด

ประการที่สอง คือการตรวจสอบผู้ซื้ออย่างละเอียด ไม่ใช่การให้บุตรหลานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือไม่มีรายได้เพียงพอจริงมาซื้อแทนผู้ที่ตั้งใจซื้อบ้านหลังที่สอง การนี้อาจทำให้การขายที่อยู่อาศัยลดลง แต่ก็จะทำให้ผู้ประกอบการได้ผู้ซื้อที่เป็นผู้ใช้สอย (End Users) ไม่ใช่นักเก็งกำไรที่อาจทำให้กระแสเงินสดของผู้ประกอบการเสียหายได้

3.เมื่อให้มีเงินดาวน์มากขึ้น ธปท.ก็ควรส่งเสริมการให้ระบบคุ้มครองเงินดาวน์ของคู่สัญญา (Escrow Account) มีผลบังคับใช้เป็นภาคปฏิบัติ ที่ผ่านมายังเป็นแบบอาสาสมัคร จึงไม่มีใครทำการคุ้มครองเงินดาวน์เลย การคุ้มครองเงินดาวน์เช่นนี้ จะทำให้ผู้ซื้อมีความมั่นใจมากขึ้น ยิ่งทำให้ตลาดมีการซื้อขายมากขึ้นไปอีก

4.ควรมีการจัดเก็บภาษีการซื้อบ้านหลังที่สอง เช่น เก็บ 5%-10% ของมูลค่าเพื่อยับยั้งการเก็งกำไร ซึ่งมาตรการด้านภาษีนี้ จะเป็นมาตรการที่ได้ผลชะงัดที่สุดในการป้องกันการเก็งกำไร

5.ธปท.ไม่ควรให้สถาบันการเงินประเมินค่าทรัพย์สินเอง ไม่ว่าจะเป็นระดับราคาใด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมีธรรมาภิบาลในระบบสถาบันการเงิน อนึ่ง แม้ ดร.โสภณ จะทำธุรกิจประเมินค่าทรัพย์สิน แต่ไม่ได้พูดเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอง แต่เพื่อประโยชน์ของระบบสถาบันการเงิน ทั้งนี้เพราะค่าจ้างผู้ประเมินอิสระภายนอกจากบริษัทประเมิน มีต้นทุนถูกกว่าการที่สถาบันการเงินจัดตั้งฝ่ายประเมินค่าทรัพย์สินของตนเอง หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 สถาบันการเงินหลายแห่งก็เคยยุบเลิกฝ่ายประเมินค่าทรัพย์สินของตนเองมาแล้ว

6.ธปท.ควรส่งเสริมการใช้ระบบประกันภัยวิชาชีพ (Indemnity Insurance) สำหรับผู้ให้บริการทางวิชาชีพต่าง ๆ เช่น ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน นายหน้า ผู้บริหารทรัพย์สิน เผื่อว่าหากดำเนินการผิดพลาด จะได้ไม่เกิดความเสียหายต่อระบบสถาบันการเงิน

7.เพิ่มประสิทธิภาพการขายบ้านมือสองของประชาชนด้วยกันเอง หรือของสถาบันการเงินหรือของกรมบังคับคดี เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการซื้อบ้านมากขึ้น ทั้งนี้เพราะบ้านมือสองในทำเลใกล้เคียงกัน แต่สาธารณูปโภคด้อย การออกแบบ ประโยชน์ใช้สอยและความทันสมัยด้อยกว่าบ้านมือหนึ่ง แต่ก็จะถูกกว่าประมาณ 30-40% ทำให้ประชาชนไม่สิ้นเปลืองเงินมากนัก และไม่ต้องสร้างใหม่ เนื่องจากมีอยู่แล้ว เป็นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ แต่ก็ยังช่วยส่งเสริมกิจการต่อเนื่อง เช่น การซ่อมแซม การตบแต่งต่อเติม เฟอร์นิเจอร์ การอำนวยสินเชื่อ ฯลฯ ไม่ได้ตัดตอนผลพวงของการซื้อบ้านแต่อย่างใด

8.ธปท.ควรขอความร่วมมือให้สถาบันการเงิน ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง ประมาณ 1% แต่คงดอกเบี้ยเงินฝาก ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากต่างกันมาก สถาบันการเงินก็ได้กำไรจากการอำนวยสินเชื่อและยังสามารถหารายได้ทางอื่นๆ สูงมาก จึงน่าจะมีความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

บ้านรอขาย
บ้าน-คอนโดรอการขาย

9.ธปท.ควรเฝ้าระวังพื้นที่หรือภาคส่วน ที่อาจมีความเสี่ยงสูงหรือมีอุปทานคงเหลือมากเป็นพิเศษ ในพื้นที่เหล่านี้ ควรขอความร่วมมือผู้ประกอบการ อย่าได้ผลิตเพิ่มที่อยู่อาศัยมากจนเกินไป

“ข้อเสนอทั้งหมดนี้ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย” ดร.โสภณ กล่าว

 

 

Avatar photo