Economics

กางแผนลงทุน 2.2 แสนล้านปั้นไทยเป็นฮับการบินระดับโลกใน 15 ปี

S 68730977

“รมว.คมนาคม” ผุดแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศ มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท หวังปั้นไทยเป็นฮับการบินระดับโลกภายใน 15 ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนานำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความเห็นต่อผลการศึกษา “การจัดทำแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย” ครั้งที่ 2 วานนี้ (11 ต.ค.) ว่าปริมาณการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการขนส่งทางอากาศของประเทศระยะ 15 ปี ระหว่างปี 2562-2576 โดย สนข. จะนำเสนอแผนแม่บทฉบับนี้ให้ที่ประชุม ครม. รับทราบประมาณปลายปีนี้

ศรัญ บุญญะศิริ

ด้านนายศรัญ บุญญะศิริ ผู้จัดการโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย กล่าวว่า ตามแผนแม่บทฯ ระยะเวลา 15 ปี จะมีการลงทุนรวม 87 โครงการ มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท เช่น โครงการจัดตั้งท่าอากาศยานสำหรับรองรับการบินเชิงธุรกิจ (Private aircraft) วงเงินรวม 9,400 ล้านบาท โครงการพัฒนาให้สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองเป็น Airport Logistic Park เป็นต้น

การพัฒนาจะแบ่งเป็น 2 ระยะ

– ระยะที่ 1 ช่วง 10 ปีแรก ระหว่างปี 2562-2571 ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อภายในภูมิภาค (Transfer Hub) ทั้งด้านผู้โดยสารและสินค้า โดยตั้งเป้าผลักดันให้มูลค่าธุรกิจการบินทั้งทางตรงและอ้อมเติบโต มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1.5% ของจีดีพี มีปริมาณผู้โดยสารรวมจะอยู่ที่ 288 ล้านคนต่อปี และปริมาณสินค้าอยู่ที่ 1.8 ล้านตันต่อปี

– ระยะที่ 2 ช่วง 5 ปีหลัง ระหว่างปี 2572-2576 ตั้งเป้าจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ซ่อมและผลิตชิ้นส่วนอากาศ รวมถึงศูนย์ธุรกิจการบิน (Global Aviation Hub) โดยจะมีจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) เพิ่มเติมในภูมิภาคต่างๆ เช่น จ.เชียงราย ตรัง สกลนคร และนครราชสีมา เพื่อซ่อมอากาศยานลำตัวแคบ เนื่องจากเอ็มอาร์โอที่สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบินลำตัวกว้างเพียงอย่างเดียว

ในระยะที่ 2 ตั้งเป้าจะผลักดันให้มูลค่าธุรกิจการบินทั้งทางตรงและอ้อมมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1.5% ของจีดีพี ปริมาณผู้โดยสารรวมเพิ่มขึ้นเป็น 422 ล้านคนต่อปี ปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านตันต่อปี โดยคาดว่าไทยจะมีรายได้รวมจากการเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานราว 20,000 ล้านบาทต่อปี

Avatar photo