Environmental Sustainability

กำเนิด “ค่า Ft” กลไกสะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้า

การจัดเก็บ “ค่าไฟฟ้า” ที่เป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่ว่า ใครได้รับสิทธิเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าแล้วอยากขายในราคาเท่าไรก็ขายได้ แต่ “รัฐ” ยังเป็นผู้กำหนดนโยบายเพื่อควบคุมอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศให้เป็นธรรมและแข่งขันได้

การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า หรือ ค่า Ft หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งปัจจุบัน การคิดค่าไฟฟ้า ที่การไฟฟ้าเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ ค่าไฟฟ้าฐาน ค่าFt (ค่าไฟฟ้าผันแปร) ค่าบริการ และภาษีมูลค่าเพิ่ม

รู้จักโครงสร้างค่าไฟฟ้า และ ค่า Ft

ค่า Ft หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร

ค่าไฟฟ้าฐาน รัฐได้กำหนดให้ครอบคลุมต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งสะท้อนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบจำหน่าย และค่าการผลิตพลังงานไฟฟ้า ภายใต้สมมติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อ

รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ผลตอบแทนที่เหมาะสมในการลงทุน ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้า (ตัวเลขคาดการณ์ ณ วันที่ประกาศอัตราค่าไฟฟ้า) โดยค่าไฟฟ้าฐาน จะมีการประกาศใช้ทุก 3-5 ปี จากนั้นจะพิจารณาปรับค่าไฟฟ้าฐานกันใหม่

ค่า Ft หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร อีกปัจจัยเพื่อความเป็นธรรม

หากเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เช่น ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ถ่านหินนำเข้า น้ำมัน มีราคาขึ้นลงตามภาวะตลาดโลกในระหว่างปี ย่อมมีผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าฐานที่ประมาณการไว้เดิม เช่น

ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาลดลง ย่อมส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลง หากไม่ปรับลดค่าไฟฟ้าในช่วงนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะเสียหาย โดยจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่าความเป็นจริง ในทางกลับกัน หาก LNG มีราคาสูงขึ้น ย่อมส่งผลให้ผู้ผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนสูงขึ้นจากที่ประมาณการไว้

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินตราต่างประเทศ ที่แข็งค่าหรืออ่อนค่า ก็มีผลกระทบต่อราคาก๊าซธรรมชาติที่ขุดในอ่าวไทย หรือซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะราคาก๊าซธรรมชาติคิดจากเงินบาท และเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริการวมกัน หากเงินบาทแข็งค่า ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก็ต่ำส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลง แต่หากเงินบาทอ่อนค่า ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก็สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้า และผู้ผลิตไฟฟ้า จึงมีการคิด ค่า Ft หรือ อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร ทุก 4 เดือน นำมาปรับปรุงเพิ่มหรือลดจาก “ค่าไฟฟ้าฐาน” เพื่อความเหมาะสมเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน

02 3 e1638261511652

ค่าไฟฟ้าผันแปร (Automatic Adjustment Mechanism) ที่มักเรียกกันสั้น ๆ ว่า ค่า Ft เกิดขึ้นจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2534 ได้เห็นชอบให้มีการนำสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้า Ft มาใช้ เพื่อให้การไฟฟ้าสามารถปรับค่าไฟฟ้าตามการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของการไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการลดผลกระทบของความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงที่อาจส่งผลต่อฐานะการเงินของการไฟฟ้า

ค่า Ft หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร มีการเรียกเก็บครั้งแรก ตั้งแต่การเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้า ประจำเดือนกันยายน 2535 เป็นต้นมา และมีการปรับปรุงสูตรค่า Ft ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ปัจจุบัน ค่า Ft เป็นกลไกสำคัญกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า ที่ปรับทุก 4 เดือน เพื่อสะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้น เช่น ราคาค่าเชื้อเพลิง (ณ เวลาที่คำนวณอัตราค่า Ft) อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐในเรื่องต่าง เช่น การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ด้วยการให้ ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หรือมาตรการ Feed-in-Tariff (FiT) และเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตร 97 เพื่อการพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เป็นต้น

ปัจจุบัน การปรับค่า Ft อยู่ภายใต้การพิจารณาของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการคำนวนให้สะท้อนราคาค่าเชื้อเพลิง ไม่ใช่ อำนาจของ 3 การไฟฟ้า

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รัฐกำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องชำระภาษี VAT ในอัตรา 7% ของค่าไฟฟ้าฐาน ค่าบริการ และ ค่า Ft ซึ่งการไฟฟ้าจะเรียกเก็บเป็นรายเดือน เพื่อรวมเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

นอกจากนี้ สูตรการคำนวณค่าไฟฟ้า รัฐยังกำหนดตามประเภทผู้ใช้งาน ได้แก่

ประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย
ประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก
ประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง
ประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่
ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง
ประเภทที่ 6 องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร
ประเภทที่ 7 กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร
ประเภทที่ 8 ไฟฟ้าชั่วคราว

ซึ่งในแต่ละประเภท จะแบ่งหน่วยการคิดค่าไฟฟ้าแยกย่อยตามแต่ละหน่วยที่แบ่งการคิดต้นทุนไว้

ทั้งนี้ใน “ใบแจ้งค่าไฟฟ้า” จะแสดงให้ผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภท รับรู้ต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้ง 3 ส่วนหลัก และค่าบริการ หากค่า Ft เป็นตัวเลขติดลบ หมายความว่า การไฟฟ้าจะนำตัวเลขค่า Ft ไปหักกับค่าไฟฐาน ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าถูกลง ในทางกลับกันหากค่า Ft เป็นตัวเลขบวก หรือปรับขึ้นตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เท่ากับว่าผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น

ผู้ใช้ไฟฟ้า จะสังเกตเห็นในรายการ “รายละเอียดค่าไฟฟ้า” มี 4 รายการ คือ ค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าบริการ ค่า Ft (ค่าไฟฟ้าผันแปร) และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งเมื่อรวมทั้ง 4 รายการ จะเป็นเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องชำระในแต่ละงวด

เชื้ิอเพลิง e1638261577516

ล่าสุด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติลดอัตรา ค่า Ft หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร ช่วงเดือน กันยายน-ธันวาคม 2563 ลดลง 0.83 สตางค์ (0.0083 บาท) ต่อหน่วย หรือ เรียกเก็บค่า Ft ที่ -12.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงเหลือ 3.63 บาท ต่อหน่วย จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดย ค่า Ft หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปรเดือน มกราคม-เมษายน 2564 ได้ปรับลดลง 2.89 สตางค์ต่อหน่วย ประกาศแล้วให้เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

จะเห็นว่า ตัวเลข ค่า Ft ปัจจุบันติดลบ ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้า ได้รับประโยชน์จากต้นทุนขาลง แต่จะจ่ายค่าไฟฟ้าถูกลงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละงวดด้วย ยิ่งใช้ไฟอย่างประหยัดก็มีโอกาสควักเงินจ่ายค่าไฟถูกลง

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight