Economics

ท่องเที่ยวสมุทรสาครจุก! คาดเดือนเดียวฉุดรายได้ 200 ล้านบาท

ท่องเที่ยวสมุทรสาคร จุก! “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดโควิดระลอกใหม่ ทำเสียรายได้ 180 – 200 ล้านบาท ใน 1 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 – 19 มกราคม 2564)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุการ ท่องเที่ยวสมุทรสาคร ต้องกลับมาหยุดชะงักอีกครั้งเมื่อพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมากในพื้นที่ จนนำมาซึ่งความจำเป็นที่ทางการต้องใช้มาตรการในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ อย่างการใช้มาตรการปิดเฉพาะพื้นที่ การขอให้สถานบริการร้านค้า เช่น ร้านอาหารให้เปิดบริการเฉพาะนำกลับ และการกำหนดเวลาการเข้าออกเคหสถาน เป็นเวลา 14 วัน (ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 – 3 มกราคม 2564)

ทั้งนี้ จ.สมุทรสาคร มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญซึ่งส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยววิถีชุมชน โดยในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวพักค้างและแบบไปเช้า-เย็นกลับ เฉลี่ยประมาณ 1.6 ล้านคน ซึ่งตลาดนักท่องเที่ยวหลักจะเป็นนักท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันได้สร้างรายได้ให้กับธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.3% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยทั่วประเทศ แต่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของ จ.สมุทรสาคร

ท่องเที่ยวสมุทรสาคร

หลังจากที่ไทยสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศได้ สถานการณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ทยอยกลับมาฟื้นตัวแต่ยังอยู่ระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับหลายจังหวัด จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า อัตราการเข้าพักในเดือน ตุลาคม 2563 อยู่ที่ 22.4% ลดลงจากเดือน กันยายน 2563 ที่อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 23.4% ขณะที่การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ น่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ได้มีการประกาศห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และโรงแรมและที่พักในจ.สมุทรสาครยังสามารถเปิดให้บริการได้ก็ตาม แต่จากข้อมูลข่าวสารการพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดทำให้นักท่องเที่ยวมีการยกเลิกและเลื่อนการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ แม้แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งจะอยู่ห่างจากจุดที่เป็นศูนย์กลางการพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากก็ตาม

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่ในพื้นที่จะทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในจ.สมุทรสาครในช่วงระยะเวลา 1 เดือนนี้ (ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 – 3 มกราคม 2564) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 180 – 200 ล้านบาท (ภายใต้สมมติฐานที่ทางการสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่โซนที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากและไม่ได้กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัด และทางการยังไม่มีมาตรการในการห้ามการเดินทางระหว่างจังหวัด)

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการกระทำได้ คือ การอัพเดทข้อมูลข่าวสารสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางต่างๆ ของผู้ประกอบการ อาทิ Facebook เว็บไซต์ หรือช่องทางไลน์ เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับลูกค้าในตัดสินใจวางแผนเดินทางท่องเที่ยวหลังจากสถานการณ์ของโควิด-19 ดีขึ้น รวมถึงการสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะมาใช้บริการ

ท่องเที่ยวสมุทรสาคร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอีกว่า การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งเริ่มจากตลาดกลางกุ้งที่ นำมาสู่การล็อกดาวน์จังหวัดสมุทรสาครชั่วคราว ตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2563 ถึง 3 มกราคม 2564 และยังพบผู้ติดเชื้อกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ในหลายจังหวัด เบื้องต้น ในกรณีที่ไม่พบคลัสเตอร์ของผู้ติดเชื้อในจังหวัดอื่น หรือการระบาดไม่ลุกลามจนนำไปสู่การล็อกดาวน์เป็นวงกว้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย อาจได้รับความสูญเสียจากการระบาดรอบใหม่ครั้งนี้ ราว 45,000 ล้านบาท ในกรอบเวลา 1 เดือน โดยผลกระทบจำแนกได้ดังนี้

สินค้าประมงและอาหารทะเล อาจสูญเสียประมาณ 13,000 ล้านบาท จากความเป็นไปได้ที่ จะเกิดการชะลอการบริโภคสินค้าประมงและอาหารทะเลในระยะสั้น นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าดังกล่าวในระยะถัดไป ก็อาจได้รับผลกระทบ ในด้านขั้นตอนการตรวจสอบและกระบวนการต่างๆ ที่คู่ค้าอาจหยิบยกให้ผู้ประกอบการไทยดำเนินการเพิ่มเติม ถึงแม้ขณะนี้ จะยังไม่มีการยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าก็ตาม

ประชาชนชะลอการทำกิจกรรมเฉลิมฉลองปีใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ สูญเสียไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท ขณะที่ ประชาชนอาจต้องจัดหาหรือสำรองสินค้า เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ อาหารพร้อมปรุง/พร้อมทาน ฯลฯ เพิ่มเติมจากช่วงก่อนหน้า และอาจจะหันไปทำกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ แทนการทำกิจกรรมนอกบ้าน

การชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เม็ดเงินที่หายไปราว 17,000 ล้านบาท ในกรณีที่ยังไม่ได้มีประกาศห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด โดยพื้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดในภาคตะวันตกและภาคกลาง กรุงเทพฯ ตลอดจน จังหวัดรอยต่อชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา

อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่นี้ ยังอาจสร้างผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อย่างชัดเจน อาทิ ผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ ที่ค้าขายสินค้าอื่นๆ ในตลาด จากการที่ผู้คนหลีกเลี่ยงการสัญจร โดยเฉพาะการสัญจรไปในพื้นที่ ที่มีการระบาดหรือมีการพบผู้ติดเชื้อ เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากการระบาดรอบใหม่นี้ สามารถควบคุมได้เร็ว และภาครัฐมีมาตรการสร้างความมั่นใจให้กลับมาได้เร็ว ก็มีโอกาสที่มูลค่าความสูญเสีย จะต่ำกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo