COLUMNISTS

งานหนัก ปชป.สร้างต้นแบบประชาธิปไตย ใครเป็นหัวหน้า อุดมการณ์ต้องไม่เปลี่ยน

Avatar photo
389

ได้ตัวผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กันไปแล้วสามคน ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ที่มีอดีต ส.ส.ลงนามรับรอง 79 คน นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก 29 คน และ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่เคยตีจากพรรคไปเป็นรองประธาน สปท.ก่อนจะกลับมาซบพรรคอีกครั้ง ได้เข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแบบหืดขึ้นคอ เพราะหาอดีตส.ส.รับรองให้ครบ 20 คนตามกติกาไม่ได้ จนหัวหน้าอภิสิทธิ์ ต้องช่วยลงนามรับรองเพิ่มคะแนนเสียงให้ และยังมีการล็อบบี้ขอให้ นางผ่องศรี ธารากุล ถอนการรับรองนายอภิสิทธิ์มารับรองตัวเองเพื่อให้ได้ครบ 20 คนแบบฉิวเฉียด

S 9101364

 

จากนี้ไปเป็นหน้าที่พรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ถึงมิติใหม่ทางการเมืองที่หัวหน้าอภิสิทธิ์ เป็นผู้จุดประกายริเริ่มกระทั่งเป็นรูปเป็นร่างให้สมาชิกพรรคได้มีส่วนร่วมในการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคในฐานะเจ้าของพรรคตัวจริง ซึ่งเป็นกระบวนการก้าวไกลไปกว่าที่กฎหมายกำหนด เชื่อว่าจะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้พรรคการเมืองอื่นต้องลุกขึ้นมาปฏิบัติตาม เพื่อสร้างประชาธิปไตยภายในพรรค และจะส่งผลดีต่อระบบการเมืองโดยรวมด้วย

อาจเรียกได้ว่าหลังจากกระบวนการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคเริ่มขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง ในฐานะพรรคการเมืองที่สร้างบรรทัดฐานการเมืองใหม่ แทนที่จะเป็นแค่พรรคการเมืองเก่าแก่ ที่เคยถูกวิจารณ์ว่าคนเบื่อหน่ายแล้ว

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงประชาธิปัตย์อยู่เคียงข้างคนไทยในทุกเหตุการณ์ทั้งสุขและทุกข์ เผชิญวิกฤติไปด้วยกัน โดยไม่เคยทอดทิ้งอุดมการณ์ ยืนหยัดบนความถูกต้อง แม้หลายครั้งจะไม่ถูกใจใครหลายคน แต่พรรคก็ยังคงเป็นหลักให้กับสังคมไทยเสมอ

การหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคจึงไม่ใช่แค่การชิงตำแหน่งหัวหน้า หรือเป็นศึกภายในพรรคเพื่อชิงอำนาจบริหารเท่านั้น แต่เป็นงานหนักของทุกคนในพรรคประชาธิปัตย์ที่จะต้องทำให้สมาชิกพรรคตื่นตัวถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมสร้างหัวหน้าพรรค สร้างพรรคด้วยตัวเอง อันจะนำไปสู่การสร้างประเทศไทยร่วมกันด้วย

ต้องยอมรับว่าไม่ง่าย เพราะมีสมาชิกพรรคจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้เฒ่า ผู้แก่ ไม่ได้มีสมาร์ทโฟนใช้ ไม่รู้จักแอพพลิเคชัน แม้พรรคจะจัดให้มีหน่วยลงคะแนนไม่น้อยกว่า 1 แห่งในแต่ละจังหวัดที่มีสมาชิกอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สมาชิกเดินทางไปใช้สิทธิ เพราะแตกต่างจากการใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยลงคะแนนอยู่ใกล้บ้าน

เรียกได้ว่าไปลงคะแนนหยั่งเสียงกันครั้งนี้เป็นเรื่องของ “ใจ” ล้วน ๆ จึงอยากส่งผ่านถึงสมาชิกพรรคทุกคนให้เห็นถึงความสำคัญของการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคครั้งนี้ เพราะนอกจากจะทำให้พรรคเป็นต้นแบบประชาธิปไตยแล้ว สมาชิกพรรคที่มีสิทธิลงคะแนนยังถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ในการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยไปอีกขั้นหนึ่งด้วย

S 9101367

72 ปี พรรคประชาธิปัตย์ มีบุคลากรผัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาหลายรุ่น แต่สิ่งที่ยึดมั่นสืบสานกันต่อมาคือ อุดมการณ์พรรคที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2489 ว่าจะต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ นี่คือสิ่งที่ทุกคนในพรรคต้องยึดถือ ไม่ว่าใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคก็ตาม เพราะผิดจากนี้ก็ไม่ใช่ประชาธิปัตย์

ในบรรดาผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าทั้ง 3 คน มีเพียงหัวหน้าอภิสิทธิ์ คนเดียวที่พูดชัดเจนถึงการยึดมั่นอุดมการณ์พรรค ไม่ยอมเป็นอะไหล่ทางการเมืองให้ใครทั้งสิ้น

พร้อมประกาศแนวทางชัดภายใต้สโลแกน #MakeMyMark สร้างใหม่ประเทศไทย ทำการเมืองแบบโปร่งใส ไม่มีพรรคสาขานอมินี ใช้เล่ห์กลหลีกเลี่ยงกฎหมาย เหมือนบางพรรค ไม่สร้างรัฐราชการเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ประชาธิปัตย์จึงเป็น “ทางหลัก” ของประเทศไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ทางเลือก”

ที่สำคัญที่สุดคือ คำพูดเปิดใจของนายกฯ อภิสิทธิ์ ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า

“ตลอด 26 ปีทางการเมือง ผมได้ทบทวนทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง เรื่องความเกรงใจก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทบทวนตัวเอง จะไม่มีการเกรงใจใครทั้งนั้นเพราะตั้งใจที่จะทำให้บ้านเมืองหลุดพ้นจากปัญหาตรงนี้ให้ได้ ถ้าไม่ทำครั้งนี้มีโอกาสสูงมากที่ประเทศจะติดหล่มไปอีกนาน ทั้งหล่มเผด็จการ และหล่มทุจริตคอร์รัปชัน ผมตั้งใจจะทำตามความฝันทางการเมืองสร้างใหม่ประเทศไทยให้สำเร็จ เพราะมีเวลาไม่มากแล้ว…”

เป็นคำกล่าวที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ มุ่งหน้าไปที่อนาคตไทย แต่จะทำได้ต้องเริ่มต้นจากการได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกพรรคให้ได้รับชัยชนะในศึกหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคก่อน

สมาชิกพรรคทุกคนที่มีส่วนร่วมในการหยั่งเสียงครั้งนี้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างใหม่ประเทศไทยไปพร้อมกันด้วย