COVID-19

หมอเหรียญทอง ชงโมเดล ‘โรงพยาบาลสนาม’ จำเป็น สู้โควิด ระลอกสอง

หมอเหรียญทอง ชงโมเดล โรงพยาบาลสนาม ควรใช้อาคาร โรงเรือนทหาร สถานที่รัฐ ที่เตรียมไว้ตั้งแต่ระบาดรอบแรก ลดภาระโรงพยาบาลในท้องที่

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “เหรียญทอง แน่นหนา” หรือ หมอเหรียญทอง ชงโมเดล โรงพยาบาลสนาม เพื่อสู้กับไวรัสโควิด-19 โดยควรใช้โรงพยาบาลสนาม ที่เป็นสถานที่ของภาครัฐ ที่เคยเตรียมไว้ตั้งแต่โควิด ระบาดระลอกแรก เพื่อลดงบประมาณ และภาระของโรงพยาบาลในพื้นที่ โดยระบุว่า

หมอเหรียญทอง ชงโมเดล โรงพยาบาลสนาม

“ข้อเสนอแนะส่วนบุคคล ความว่า หากเกิดสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ และ หรือผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมาก การใช้โรงพยาบาลประจำถิ่น ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชน ในพื้นที่ควบคุม เพื่อการกักกัน หรือสอบสวนโรค จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ

ทั้งยังจะไม่เพียงพอ ต่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อจำนวนมากด้วย และจะส่งผลให้โรงพยาบาลประจำถิ่น ในพื้นที่ควบคุม พร่องขีดความสามารถ ในทางการแพทย์ลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ การรักษาผู้ป่วยทั่วไป ที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 (Non-COVID 19) จำนวนมาก ที่ต้องถูกจำกัด อยู่ในพื้นที่ควบคุม โดยไม่สมควร

ดังนั้น โรงพยาบาลสนาม (Field hospital)  จึงเป็นสิ่งจำเป็น ในพื้นที่ควบคุมการระบาด ดังเช่น จังหวัดสมุทรสาคร

โรงพยาบาลสนาม (Field hospital) ในพื้นที่ควบคุมการระบาด จะต้องเป็นโรงพยาบาลสนาม ที่มีขีดความสามารถเบ็ดเสร็จ อันเนื่องจากการปิดเมือง ทั้งเพื่อลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ออกนอกพื้นที่ควบคุม โดยไม่จำเป็น

โรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ควบคุม ไม่สมควรที่จะใช้อาคารโรงแรม หรือที่พักอาศัย มาเป็นหน่วยสำรองเตียง หรือเพิ่มจำนวนเตียง ให้แก่โรงพยาบาลประจำถิ่น ดังเช่นที่เคยปฏิบัติ ในระลอกแรก ของการระบาดเมื่อห้วงเดือน ก.พ.-พ.ค.63 เพราะจะเป็นการ สิ้นเปลืองงบประมาณ

เหรียญทอง แน่นหนา

แต่จะต้องนำแผนการจัดตั้ง “โรงพยาบาลสนาม (Field hospital)” ที่กองทัพ หรือส่วนราชการกระทรวงกลาโหม ได้เตรียมการไว้ ด้วยการใช้ อาคารโรงเรือนทหาร โรงเรียน สถานที่ต่างๆของรัฐ ฯลฯ ที่เตรียมการไว้ ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก เมื่อห้วงเดือน ก.พ.-พ.ค.63 แล้ว

ทั้งนี้ เนื่องจากสามารถกักกัน กรณีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ที่ยังไม่ปรากฎอาการป่วย , กรณีผู้ต้องสงสัยจำนวนมากที่ต้องสอบสวนโรค (Under Investigation) และกรณีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เพื่อให้สามารถเข้ารับการรักษาโดยรวดเร็วแต่เนิ่น ๆ

ด้วยแนวทางนี้ จะช่วยลดภาระ ให้โรงพยาบาลประจำถิ่น ในพื้นที่ควบคุม ยังดำรงขีดความสามารถในทางการแพทย์ ในการรักษาผู้ป่วยทั่วไป ที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 (Non-COVID 19) แต่ต้องถูกจำกัด อยู่ในพื้นที่ควบคุมได้ตามสมควรต่อไป โดยทำให้ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่น้อยที่สุด

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ควบคุม ดังเช่น จังหวัดสมุทรสาคร สมควรจะต้องมี “หน่วย ไอ ซี ยู สนาม” (Field ICU) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เป็นการเฉพาะ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อลดการเคลื่อนย้าย  ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือมีอาการหนัก ออกนอกพื้นที่ควบคุม ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะกระทำได้

ด้วยลักษณะโรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ควบคุม ที่ต้องใช้ทรัพยากรบุคลากร และอุปกรณ์จำนวนมาก ลำพังอัตรากำลังพล และสิ่งอุปกรณ์ ในสังกัดหน่วยขึ้นตรงกระทรวงสาธารณสุข และส่วนราชการจังหวัดสมุทรสาคร อาจไม่เพียงพอ

ดังนั้น การสนธิกำลัง ให้เป็นการปฏิบัติการร่วม (Joint operation) โดยพลเรือน ตำรวจ ทหาร จากส่วนราชการต่างๆ เช่น กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ทั้งยังอาจหมายรวมถึง จิตอาสาพลเรือน นอกสังกัดราชการ เช่น จิตอาสาบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อให้ “ปฏิบัติการร่วมโรงพยาบาลสนาม” ระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร สัมฤทธิผล

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ยังคงเป็นส่วนราชการหลัก ในการควบคุมบังคับบัญชา หน่วยสมทบ จากส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้ปฏิบัติการร่วม โรงพยาบาลสนาม มีความเป็นเอกภาพ

การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และปฏิบัติการร่วมโรงพยาบาลสนาม ระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร ในพื้นที่ควบคุมการระบาด ดังเช่น จังหวัดสมุทรสาคร จะสามารถใช้เป็นต้นแบบนำร่อง หากเกิดการระบาดเป็นพื้นที่ในภูมิภาคอื่นๆ

ด้วยความปรารถนาดี

พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo