General

ยุคทองสมุนไพร สธ.ปักธง ดันเข้าบัญชียาหลัก ปีละ 10 รายการ

ยุคทองสมุนไพร สธ. เร่งผลักดันนำยาจากสมุนไพร ที่มีหลักฐานสนับสนุน เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ปีละ 10 รายการ ยกระดับทัดเทียมยาแผนปัจจุบัน 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมาย ให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ครั้งที่ 2 โดย นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า นับเป็น ยุคทองสมุนไพร เนื่องจากปัจจุบัน สมุนไพร เป็นที่ต้องการมากขึ้นในด้านการบริโภค เพื่อสุขภาพของประชาชน

ยุคทองสมุนไพร

ที่สำคัญคือ ในช่วงการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด- 19 ที่ไทยยังประสบปัญหา การขาดแคลนวัตถุดิบ สำหรับใช้ผลิตยาแผนปัจจุบัน เพราะต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ยิ่งทำให้เห็นถึงความสำคัญเร่งด่วน ในการผลักดัน นโยบายสมุนไพรไทย เพื่อความมั่งคงทางสุขภาพ และความยั่งยืนของเศรษฐกิจ สู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ สมุนไพร ยังเป็นผลิตผลธรรมชาติ ที่มีในประเทศหลากหลายชนิด ช่วยทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศ

ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงได้เห็นชอบให้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ด้านสมุนไพรเป็นการเฉพาะ โดยจะปรับปรุงกลไกการพิจารณายาจากสมุนไพร เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตั้งเป้าเพิ่มยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่น้อยกว่าปีละ 10 รายการ

ขณะเดียวกัน ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว่ ใน (ร่าง) นโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2563 – 2565 และแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 เพื่อรองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ปัจจุบันยาจากสมุนไพร ที่บรรจุในบัญชียาหลักฯ มีจำนวน 74 รายการ เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน กระเจี๊ยบแดง ไพล ว่านหางจระเข้ เป็นต้น

ด้านยาแผนปัจจุบัน คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบให้บรรจุยาสูตรผสม sofosbuvir + velpatasvir ชนิดรับประทาน สำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นยาที่สามารถรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี หายขาดได้ทุกสายพันธุ์ มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัย สูงกว่ายาเดิม ระยะเวลาในการรักษาลดลงครึ่งหนึ่ง และยังช่วยประหยัดค่ายา และค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ถึง 56 ล้านบาทต่อปี

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต

คณะกรรมการฯ ยังได้เห็นชอบ ให้พัฒนารหัสยามาตรฐานของประเทศไทย ให้สอดคล้องกับ มาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถอ้างอิงผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้ในประเทศ ได้อย่างถูกต้องครบวงจร ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน การผลิต จนถึงการใช้ยา รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูล กับต่างประเทศได้ โดยมีแผนการเปลี่ยนผ่าน จากระบบปัจจุบัน ไปสู่การใช้รหัสยามาตรฐาน อย่างสมบูรณ์ ภายในปี 2568

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต กล่าวในตอนท้ายว่า จะเร่งผลักดันนำยาจากสมุนไพรเข้าสู่ระบบสุขภาพ ผ่านกลไกบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพร พ.ศ. 2560-2564 รวมทั้งเพิ่มรายการยาจำเป็นที่มีราคาแพง ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชน เข้าถึงยาจำเป็น ที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ใช้ยาสมเหตุผล และทำให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยา อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ นิยมใช้ สมุนไพร เป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยความคิดที่ว่า สมุนไพร มีความปลอดภัย ประกอบกับนโยบายส่งเสริม การใช้สมุนไพรของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล ใช้สมุนไพร ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจุบัน และมีการนำ สมุนไพร มาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 79 % อาหารเสริม 17 % และยารักษาโรค 4 %

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ยังยังมีมติเห็นชอบให้ยกระดับเมืองสมุนไพรทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มการเกษตรวัตถุดิบสมุนไพร ประกอบด้วย จังหวัดอำนาจเจริญ, สุรินทร์, มหาสารคาม, อุทัยธานี, สกลนคร 2.กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร

ประกอบด้วย จังหวัด นครปฐม, สระบุรี, ปราจีนบุรี, จันทบุรี และ3.กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงามประกอบด้วยเชียงราย, พิษณุโลก, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี, สงขลา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo