Economics

พาณิชย์เผยส่งออกเดือน พ.ย. ติดลบ 3.65% สัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น

ส่งออกเดือน พ.ย. พาณิชย์เผยส่งออกเดือนพฤศจิกายน ติดลบ 3.65% สัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น แม้ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ขณะที่ภาพรวมติดลบ 6.92%

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน พฤศจิกายน 2563 โดยการ ส่งออกเดือน พ.ย. มูลค่า 18,932.66 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 3.65% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 18,880.07 ล้านดอลลาร์ หดตัว -0.99% ส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุล 52.59 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ภาพรวมใน 11 เดือนของปี 63 (ม.ค. – พ.ย.) การส่งออกมีมูลค่ารวม 211,385.69 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 6.92% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 187,872.74 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 13.74% ส่งผลให้เกินดุล 23,512.96 ล้านดอลลาร์

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน พฤศจิกายน 2563 ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี แม้ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 แต่เศรษฐกิจโลก มีทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และ ทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 เดือน

ส่งออกเดือน พ.ย.

สอดคล้องกับหลายองค์กรระหว่างประเทศ ที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลก ในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่ง เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของคู่ค้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกในเดือนนี้ ปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ รวมทั้งข่าวดีเรื่องความคืบหน้าในการผลิต และ กระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่น ทั้งในภาคการผลิต และ การบริโภค โดยการส่งออกไทยมีภาวะการหดตัวน้อยลง ทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นว่า ปีนี้การส่งออกจะติดลบไม่เกิน 7% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม และ ยังมีโอกาสติดลบไม่ถึง 7% หากมูลค่าการส่งออกในเดือน ธันวาคม 2563 อยู่ในช่วง 1.8 – 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับเดือน พฤศจิกายน 2563 ซึ่งจะทำให้การส่งออกทั้งปีติดลบราว 6.45 ถึง 6.8%

ทั้งนี้ การส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 63 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า เพื่อให้มีเพียงพอต่อความต้องการของผู้ส่งออก รวมถึงการลดค่าระวางเรือ และค่าธรรมเนียมอื่นๆ

ในด้านการเจรจาการค้า ได้กำชับให้เร่งเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ (FTA) ที่ยังค้างอยู่ และ เปิดการเจรจา FTA ใหม่ๆ เช่น ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-ยูเรเซีย ไทย-เอฟต้า อาเซียน-แคนาดา ตลอดจนผลักดัน การสร้างหุ้นส่วนพันธมิตรรายมณฑล นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ เร่งหาตลาดและโอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้การส่งออกของไทยในปี 64

“การส่งออกไทยได้รับปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน ในภาพรวมคาดว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกในเดือนสุดท้ายของปี และหากประเทศไทยได้รับมอบวัคซีนในช่วงกลางปี 64 ตามกำหนด จะฟื้นคืนความเชื่อมั่นได้เร็วขึ้น และส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัว ซึ่งจะทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวหลายรายการกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

ส่วนการส่งออกในปี 64 เชื่อว่าจะพลิกกลับมาเติบโตได้ราว 4% จากผลของฐานที่ต่ำในปีนี้ โดยมีปัจจัยหนุนจากสินค้าไทยมีศักยภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อดีขึ้น ข่าวการผลิตวัคซีน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง

ขณะที่ปัจจัยลบต่อการส่งออก คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อทั่วโลก นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดสมุทรสาครของไทย ที่จะต้องควบคุมไม่ให้เกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะกระทบการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทยได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo