Economics

ปิดจ็อบ ‘เทอร์มินอล 2’ ธันวาคมนี้

สุวรรณภูมิ ถนน เทอร์มินอล 2

 โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 (Terminal 2) ในสนามบินสุวรรณภูมิ ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างล้นหลาม หลังผลการประกวดออกแบบอาคารแห่งนี้ ออกมาแบบพลิกโผ กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก หรือ”กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค” ผู้ได้คะแนนทางเทคนิคอันดับ 2 กลายเป็นผู้ชนะการประกวด เพราะผู้ได้รับคะแนนอันดับ 1 ไม่ได้ส่งเอกสารสำคัญ!!

ประเด็นนี้ได้จุดชนวนความขัดแย้ง และกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม มีการโจมตีถึงตั้งแต่เรื่องกระบวนการประกวดแบบ, กลุ่มดวงฤทธิ์ ชนะเพราะสนิทกับกรรมการ, แบบที่ชนะการประมูลไม่สวย ไม่มีความเป็นไทย เกิดไฟไหม้ได้ง่าย ฯลฯ

 

ด้านกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เอสเอ กรุ๊ป  แพ้ฟาล์วในการประกวด ก็ไม่ยอมแพ้  ได้ฟ้องร้อง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ต่อศาลปกครองกลาง และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองการประกวดแบบไว้ชั่วคราว พร้อมยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สถานการณ์ดูเหมือนเข้าข้าง ทอท. เมื่อศาลปกครองกลางไม่ออกคำสั่งคุ้มครอง และรัฐบาลไม่ได้สั่งเบรกโครงการตามที่“เอสเอ กรุ๊ป” ร้องขอ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2561 คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. จึงไฟเขียวให้เดินหน้าลงนามสัญญากับกลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค” อีกครั้ง 

แต่ล่าสุดคณะอนุกรรมการกฎหมายและคดีของ ทอท. มีความเห็นว่า ควรนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับสำนักอัยการสูงสุดเพื่อความรอบคอบ ส่งผลให้ต้องเลื่อนการลงนามสัญญาออกไปก่อน …

อีกด้านหนึ่ง สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ได้ร่วมกันยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้ทบทวนการออกแบบและก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 โดยอ้างว่า อาคารแห่งนี้ไม่ได้อยู่ในแผนแม่บท (Master Plan) ฉบับแรกเมื่อปี 2533 ซึ่งอาจทำให้โครงการไม่คุ้มค่าและไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี ตามที่ ทอท. กล่าวอ้าง

ขณะนี้ ทอท. ในฐานะเจ้าของโครงการ จึงต้องเร่งสรุปประเด็นทางกฎหมาย ที่สำคัญคือ เคลียร์ทุกข้อสงสัยในสังคม เพื่อทำให้โครงการนี้ได้ไปต่อ!!

SWP Ter2 ๑๘๐๘๒๖ 0025

เป้าหมายคือ จะต้องเสนอประเด็นทางกฎหมายให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน และลงนามสัญญากับกลุ่มดวงฤทธิ์ ให้ได้ภายในเดือนธันวาคม เพราะการประกวดแบบครั้งนี้ กำหนดให้เอกชนยืนราคาไว้ที่ 329 ล้านบาท จนถึงเดือนธันวาคม หลังจากนั้นเอกชนมีสิทธิ์ขอปรับขึ้นค่าออกแบบ นั่นหมายความว่า ทอท. ต้องเปิดโต๊ะเจรจาค่าจ้างกับเอกชนใหม่ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ยุ่งยากขึ้น และยังเป็นช่องโหว่ให้เกิดกระแสโจมตีอีกครั้ง

เลื่อนการเปิดใช้เป็นปี 2566

ถ้าทอท. ไม่เร่งปิดจ็อบ ก็จะทำให้การก่อสร้างอาคารแห่งนี้ต้องล่าช้าออกไปอีก จากปัจจุบันงานออกแบบล่าช้ามาเกือบปีแล้ว เนื่องจากการประกวดออกแบบครั้งแรกในต้นปี 2560 ไม่มีผู้เข้าประกวด จึงต้องยกเลิกไป ส่วนการประกวดแบบครั้งที่ 2 ในช่วงปลายปี 2560 แม้จะมีผู้เข้าประกวด 4 ราย แต่ก็มีการร้องเรียนกันหนักมาก จนเพิ่งมาประกาศผลเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561

หาก ทอท. สามารถลงนามจ้างกลุ่มดวงฤทธิ์ ประกวดออกแบบได้ในเดือนธันวาคมนี้ตามเป้าหมายได้ คาดว่าจะออกแบบเสร็จในเดือนกันยายน 2562 ก่อนเปิดประมูลหาผู้รับเหมาอีก 4 เดือน คาดว่าจะได้ตัวผู้รับเหมาเร็วที่สุดก็ในช่วงเดือนมกราคม 2563 เริ่มก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ล่าช้ากว่าเป้าหมายเดิมที่จะเปิดให้บริการในปี 2565 เล็กน้อย  นี่เป็นการประเมินบนสถานการณ์แบบดีที่สุด ไม่มีอุปสรรคใดๆ เพิ่มเติม

ไม่พูดถึงการประมูลดิวตี้ฟรี ถ้าไม่สรุปเทอร์มินอล 2

 ความล่าช้าของอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ยังส่งผลกระทบต่อสนามบินสุวรรณภูมิในหลายๆ ด้าน แต่ที่น่าจับตามองคือ การประมูลกิจการร้านจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (Duty Free สนามบินสุวรรณภูมิครั้งใหม่ในรอบ 14 ปี เพราะ ทอท. แสดงท่าทีชัดเจนว่า ต้องการรวมพื้นที่อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 เข้าไปในการประมูลดิวตี้ฟรีครั้งนี้ด้วย

นิตินัย ศิริสมรรถการ
นิตินัย ศิริสมรรถการ

 ก่อนหน้านี้ นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ระบุว่า ถ้าโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 มีความชัดเจน จะนำพื้นที่ไปเปิดประมูลดิวตี้ฟรี พร้อมกับอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 และอาคารเทียบเครื่องบินหลังรองแห่งที่ 1 ที่กำลังก่อสร้างด้วย แต่อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ยังไม่ได้ข้อสรุป ก็จะเปิดประมูลดิวตี้เฉพาะอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 และอาคารเทียบเครื่องบินหลังรองแห่งที่ 1 เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า

 ล่าสุด  นิตินัย ระบุว่า “จะยังไม่คุยเรื่องดิวตี้ฟรี จนกว่าจะสรุปเทอร์มินอล 2” นั่นหมายความว่าการประมูลดิวตี้ฟรีอาจต้องยืดเยื้อออกไปถึงช่วงปลายปี โดยขณะนี้เหลือการประชุมบอร์ด ทอท. ในปี 2561 อีกเพียง 3 ครั้ง ซึ่งเอกชนคงต้องลุ้นกันเหงื่อหยดว่า เงื่อนไขการประมูล (TOR) ดิวตี้ฟรีจะเสนอเข้าบอร์ด ทอท. ทันปีนี้หรือไม่ หรือจะต้องลากยาวไปถึงต้นปี 2562

เทอร์มินอล 2 สำคัญไฉน?

 สำหรับอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิฉบับปี 2554 ที่มีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เป็นผู้ศึกษา โดยอาคารแห่งนี้ถูกออกแบบให้รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีความจุมากกว่าจำนวนผู้โดยสาร จากปัจจุบันที่สนามบินมีผู้โดยสารมากกว่าความจุ พูดง่ายๆ ก็คือทำให้สุวรรณภูมิหายจากอาการ สนามบินแตก

 ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิ มีอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 เพียงหลังเดียวและมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี แต่สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้ใช้บริการจริงมากกว่า 60 ล้านคนมาหลายปีแล้วและคาดว่าในปี 2561 จะมีผู้โดยสารทะลุ 65 ล้านคน

 ทอท. อ้างว่าในปี 2565 ถ้ามีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ความจุ 30 ล้านคนต่อปี รวมกับอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 หลังเดิมและอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite) ที่กำลังก่อสร้าง จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ถึง 90 ล้านคนต่อปี แซงจำนวนผู้โดยสารที่คาดว่าจะเติบโตมากกว่า 70 ล้านคนต่อปีในปี 2565 ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ให้บริการ ไม่ต้องมีความแออัดยัดเยียดกันอีก

 นอกจากนี้ อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ถูกออกแบบให้มีบริการระดับ B  หรือค่อนข้างดี สูงกว่าอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ที่มีบริการอยู่ในระดับ C หรือปานกลาง และบางครั้งตกไปในอันดับ D หรือไม่น่าพอใจด้วยซ้ำ ดังนั้นอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 จะช่วยให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิดีขึ้นและอาจติด 1 ใน 10 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก

 เทอร์มินอล 2 ยังไม่จบง่ายๆ

 แน่นนอนว่าการผลักดันโครงการอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นโครงการที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท และยังเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ถ้าหากใครได้งานอาคารผู้โดยสารแห่งนี้ไป ก็เปรียบเสมือนมีผลงานชิ้นโบว์แดง ตั้งไว้ที่ประตูเข้าทางประเทศไทย

 ความวุ่นวายในการออกแบบอาคารผู้โดยสารมูลค่า 329 ล้านบาท จึงเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ยังเหลือการประมูลงานก่อสร้างวงเงินถึง 4.2 หมื่นล้านบาท  นับเป็นเค้กก้อนมหึมา เพราะทอท. จะไม่มีตัดแบ่งเค้ก โดยจะประมูลทั้งก้อนแค่ 1 สัญญาเท่านั้น ซึ่งการประมูลงานก่อสร้างระดับพันล้าน หมื่นล้าน ที่สนามบินสุวรรณภูมิในช่วงที่ผ่านมา ก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า กว่าแต่ละโครงการจะสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ

Avatar photo