COVID-19

‘ราชทัณฑ์’ สั่งล็อกดาวน์เรือนจำ 13 แห่งพื้นที่เสี่ยง สกัดโควิด-19 ระบาดในคุก

“ราชทัณฑ์” สั่ง ล็อกดาวน์เรือนจำ 13 แห่งในพื้นที่เสี่ยง สกัดโควิด-19 ระบาดในคุก ที่เหลือขึ้นอยู่กับดุลพินิจ หากเห็นสมควร สั่งล็อกดาวน์ได้ทันที

วันนี้ (22 ธ.ค. 63) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดี กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ว่า กรมราชทัณฑ์ได้สั่ง ล็อกดาวน์เรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานกักกัน จำนวน 13 แห่งในพื้นที่เขต 7 พื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่เสี่ยงแล้ว ได้แก่

ล็อกดาวน์เรือนจำ

  1. เรือนจำกลางนครปฐม
  2. เรือนจำกลางเขาบิน
  3. เรือนจำกลางราชบุรี
  4. เรือนจำกลางสมุทรสงคราม
  5. เรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี
  6. เรือนจำกลางเพชรบุรี
  7. เรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี
  8. เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร
  9. เรือนจำอำเภอทองผาภูมิ
  10. เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  11. สถานกักกันนครปฐม
  12. เรือนจำพิเศษธนบุรี
  13. ทัณฑสถานหญิงธนบุรี

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้เชิญคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาดำเนินการตรวจผู้ต้องขังแรกรับทั้งหมด รวมทั้งผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงและเจ้าหน้าที่เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร โดยขณะนี้กำลังรอผลการตรวจอยู่ ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ได้ประสานกับโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อการตรวจคัดกรองเพิ่มเติมต่อไป

prison
ภาพประกอบ : เฟซบุ๊กเพจ เรือนจำกลางคลองเปรม

ส่วนในเรือนจำและทัณฑสถานอื่นๆ ในเขตจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้อำนวยการและผู้บัญชาการเรือนจำและทัณฑสถาน ที่จะดำเนินการล็อกดาวน์ได้ทันที พร้อมทั้งให้ปฏิบัติ 6 มาตรการ คือ

  1. การแยกกักกันโรคผู้ต้องขังรับใหม่และรับย้ายอย่างน้อย 14 วัน และต้องปฏิบัติตามกระบวนการแยกกักกันโรคที่ถูกต้องอย่างเข้มงวด
  2. งดการเยี่ยมญาติช่องทางปกติและให้มีการเยี่ยมญาติทางไลน์ทดแทน
  3. มาตรการคนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า ด้วยการงดนำผู้ต้องขังออกทำงานภายนอกเรือนจำ และงดการนำบุคคลภายนอกเข้าเรือนจำ ยกเว้นในกรณีมีเหตุจำเป็น
  4. สร้างความเข้าใจให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ต้องขังและญาติ ตลอดจนจัดให้มีกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดในระหว่างการงดเยี่ยมญาติ
  5. กำชับเจ้าหน้าที่ ผู้ต้องขังและญาติ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา การเว้นระยะห่างทางสังคม
  6. งดการจัดกิจกรรมที่ต้องนำผู้ต้องขังมารวมกันมากๆ และจัดหาหน้ากากอนามัยให้ผู้ต้องขังทุกคนอย่างน้อยคนละ 2 ชิ้น

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ส่วนเรือนจำและทัณฑสถานในพื้นที่อื่นๆ ที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 นั้น ให้เรือนจำและทัณฑสถานแต่ละแห่งติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น การแยกกักกันโรคในผู้ต้องขังเข้าใหม่และรับย้ายอย่างน้อย 14 วัน การเปิดลงทะเบียนเยี่ยมญาติล่วงหน้า การเยี่ยมญาติแบบเว้นระยะห่างตามวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) การเยี่ยมญาติผ่านไลน์ทดแทนการเยี่ยมแบบปกติ การตรวจคัดกรองเจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกที่จะเข้าในเขตพื้นที่เรือนจำและทัณฑสถานอย่างเข้มงวด พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกคนมีวินัยในการป้องกันตัวเอง ไม่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง โดยหากเจ้าหน้าที่และครอบครัวเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงให้ดำเนินการกักตัวอย่างน้อย 14 วัน

ส่วนการปล่อยตัวผู้ต้องขัง การพักโทษ และการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวนั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ยังคงดำเนินการตามเดิม เพราะในเรือนจำและทัณฑสถานขณะนี้ยังไม่มีการแพร่ระบาด จึงยังไม่กระทบกับเรื่องนี้

ดังนั้น ขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกรมราชทัณฑ์ และเข้าใจถึงความจำเป็นในการปิดเรือนจำและทัณฑสถาน เพื่อป้องกันผลเสีย หากเชื้อหลุดรอดเข้าไปยังเรือนจำและทัณฑสถานในครั้งนี้

shutterstock 1869702970 1

วันนี้ (22 ธ.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงสถานการณ์ โควิด-19 ว่า ในเรือนจำทั่วประเทศ ยังไม่พบว่ามีนักโทษติดเชื้อ แต่ได้มีการปรับรูปแบบการเยี่ยมนักโทษในเรือนจำ โดยใช้แอปพลิเคชั่นไลน์ และขอให้งดเยี่ยมชั่วคราวจำนวน 27 เรือนจำ รวมถึงเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร และใกล้เคียงด้วย แต่ทั้งนี้ไม่ต้องตระหนกตกใจ เพราะถือเป็นการป้องกัน

สำหรับกรณีพระราชทานอภัยโทษ ในขณะนี้มีนักโทษจำนวนหนึ่งที่จะนำออกจากเรือนจำ แต่ต้องรอการขอหมายศาล เพราะศาลต้องมีคำสั่งลดโทษว่า เหลือระยะเวลาเท่าไหร่ จึงออกจากเรือนจำได้ ซึ่งจะเป็นกระบวนการเพื่อไม่ให้เกิดความแออัด

พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้ปรับห้องทดลองของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ให้สามารถตรวจโควิด-19 ได้ เพื่อใช้ในการป้องกันในส่วนของกระทรวงยุติธรรม หากมีเหตุเกิดขึ้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีอะไร ซึ่งเป็นเพียงการเตรียมตัว

นอกจากนี้ ตนยังได้เสนอข้อมูลต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับกรณีแรงงานจังหวัดสมุทรสาครว่า อยากจะเสนอนิคมอุตสาหกรรมแรงงานราชทัณฑ์ ที่จะนำผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษไปอยู่ เพื่อทำงานในแรงงานอาหารทะเล เพื่อเติมเต็มในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า เพราะแรงงานต่างชาติที่เข้าออกโดยผิดกฎหมาย ก็เป็นอันตรายอย่างที่เห็นในทุกวันนี้

สำหรับนักโทษที่พ้นโทษแล้ว จะนำไปทดแทนแรงงานต่างด้าวที่ จังหวัดสมุทรสาคร จะมีทักษะในการทำงานด้านนั้นหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่สมุทรสาคร ไม่ใช่แรงงานที่ต้องมีความชำนาญ หรือใช้ทักษะอะไรพิเศษ เพราะเป็นแรงงานที่นำไปแกะกุ้ง หอย ปู ปลาใช้เวลาเพียง 3-4 วัน ก็เกิดความชำนาญแล้ว เชื่อว่าสามารถทำได้ รวมถึงผู้ต้องขังจำนวน 35% ที่ออกไปอยากทำงาน ซึ่งมีบางส่วนประมาณ 50% ที่มีพ่อแม่เลี้ยงดู และส่วนน้อย 15% ที่ไม่อยากทำงาน ซึ่งแยกประเภทไว้ชัดเจน

เมื่อถามว่า 35% จากการคำนวณแล้ว 2 ปี จะได้กี่คน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เราคงไม่เหมาทั้งหมด เพราะแรงงานต่างด้าวที่จังหวัดสมุทรสาคร มีประมาณ 4 แสนคน ส่วนใน 35% นี้ ก็จะได้ประมาณ 5-7 หมื่นคน ที่จะไปทำงานในลักษณะนี้ เพื่อเป็นการฝึกอาชีพให้คนมีงานทำ

ทั้งนี้ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เพียงแต่คิดว่า จะสามารถตอบโจทย์แรงงานต่างด้าวที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และไม่ได้มีการตรวจเช็กเชื้อโควิด-19 และผ่านการคัดกรอง ถ้าทำแบบนี้เราก็จะสามารถตรวจสอบได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo