Green Energy

เปิดตัวโครงการ ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION: สร้างความรู้ -สร้างเครือข่าย พลังงานสะอาด

‘โทย่า มีเดีย’ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(5) ปี พ.ศ. 2563 จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จัดทำโครงการ “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION” สร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องพลังงานหมุนเวียน มุ่งเน้นด้าน Bio Energy เพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ดี นำไปสู่การมีส่วนร่วมให้เกิดการปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม สู่แนวคิด “Clean Energy For Life : ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน”

เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่เครือข่ายประชาสังคม รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่ สำหรับพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล จากเศษวัสดุการเกษตรในไร่นา ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร ลดปัญหามลภาวะจากการเผาทำลายแปลงเกษตรกร

ไฟฟ้าสีเขียว

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังงานสะอาด จึงกำหนดแกนกลางการสื่อสารภายใต้แนวคิด “CLEAN ENERGY FOR LIFE: ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” เป็นการสื่อสารหลักครอบคลุมภาพรวมพลังงานหมุนเวียน ที่นำไปสู่การใช้พลังงานสะอาด สร้างจุดจดจำให้ทุกกลุ่มเป้าหมาย กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังใน “การใช้” พลังงานสะอาดที่ทำให้ทั้งผู้ใช้ และผู้อื่นในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าของพลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ 26 กลุ่ม ผู้ได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(5) ปี พ.ศ. 2563 เพื่อร่วมกันสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมผ่านเครือข่ายภาคประชาชน

ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION สร้างความรู้ -สร้างเครือข่าย พลังงานสะอาด

บริษัท โทย่า มีเดีย จำกัด ผู้บริหาร สำนักข่าว The Bangkok Insight หนึ่งในผู้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(5) ปี พ.ศ. 2563 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.) ให้ดำเนินโครงการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ในโครงการ ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION เพื่อส่งเสริมประชาชน และสังคมให้มี ความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า สำหรับเครือข่ายประชาสังคม เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น เครือข่ายเกษตรกร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการใช้พลังงานสะอาด

ภาพประกอบ03 01 e1638258040414

ขณะเดียวกันยังเป็นสื่อกลางในการให้ความรู้ ความเข้าใจ ถึงบทบาทและภารกิจของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า วางมาตรฐานความปลอดภัย ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อันเป็นการกำกับดูแลการประกอบกิจการไฟฟ้า และสร้างสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งสู่เป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และชาวบ้านให้ดีขึ้น

โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ แก่ประชาชนในเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล ที่ใช้เชื้อเพลิงจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในสวนและไร่นา อาทิ ฟางข้าว แกลบ ซังข้าวโพด ชานอ้อย ใบอ้อย ทางปาล์ม รวมถึงการใช้พืชพลังงาน อาทิ หญ้าเนเปียร์ ไม้โตเร็ว

นอกจากนี้ยังสร้างความตระหนักถึง ความสำคัญของพลังงานไฟฟ้า การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนรุ่นลูก รุ่นหลาน มีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจต่อภารกิจหน้าที่ของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการกำกับดูแลโรงไฟฟ้า กระตุ้นให้ประชาชน มีการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลโรงไฟฟ้าในพื้นที่ของตนเอง

การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก นอกจากจะสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรแล้ว สิ่งสำคัญคือ ช่วยลดการเผาทิ้งทำลายแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งหมอกควัน ที่เป็นอีกสาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน ซึ่งมีตลาดรองรับที่ชัดเจน สร้างทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกร รวมถึงการช่วยลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนสูง 60-70%

ไฟฟ้าสีเขียว

บทบาทพลังงานไฟฟ้าชีวมวลต่อสิ่งแวดล้อม

ยิ่งไปกว่านั้นโรงไฟฟ้าชีวมวล ยังเป็นอีกส่วนสำคัญในการช่วยประเทศขับเคลื่อนความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ผ่านเวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 21 หรือ COP 21 ได้บรรลุความตกลงที่สำคัญที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 ซึ่งยืนยันเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นต่ำกว่า 2 องศาสเซลเซียส และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2573 ตามเป้าหมาย นับเป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทย

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 มีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2563 (ครั้งที่ 150) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (Alternative Energy Development Plan 2018 : AEDP2018) เพื่อรักษาเป้าหมายรวมในการเพิ่มสัดส่วน การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (ไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพ) ต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายที่ 30% ในปี 2580 (ตามแผน AEDP 2015) โดยปรับกรอบระยะเวลาให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561- 2580)

เป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จำนวน 10 ประเภทเชื้อเพลิง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 18,696 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 52,894 เมกะวัตต์ จะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ณ ปี 2580 เป็น 34.23% ซึ่งมากกว่าแผน AEDP 2015 ที่ตั้งไว้ที่ 20.11% ในปี 2579 ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ ชีวมวล พลังงานลม ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม พลังน้ำขนาดเล็ก พลังน้ำขนาดใหญ่ ในส่วนนี้ได้กำหนดกรอบ รับซื้อไฟฟ้าจากประเภทพลังงานชีวมวล อยู่ที่ 3,500 เมกะวัตต์ ในปี 2580

โครงการ “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION” เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจฐานราก และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาความเข้าใจคลาดเคลื่อน และลดกระแสต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าใหม่ในปัจจุบัน

รูปประชุม e1638257874839

ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(5) ปี พ.ศ. 2563 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานบริษัท โทย่า มีเดีย จำกัด ยังมีแผนดำเนินการจัดงานสัมมนาให้ความรู้ความเข้าใจ แก่เครือข่ายประชาสังคม เครือข่ายอสม. เครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น เครือข่ายเกษตรกร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ในพื้นที่เป้าหมาย 4 ภาค ภาคละ 1 จังหวัด ภายใต้โครงการ “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION” ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้

โดยการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ ประเมินจากพื้นที่ที่มีผลผลิตทางการเกษตรที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวล พื้นที่ที่มีแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลตามนโยบายของภาครัฐ และพื้นที่ที่มีข้อพิพาท หรือมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อต้องการทราบข้อมูลที่แท้จริง

ภายใต้การดำเนินโครงการ “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION” บริษัท โทย่า มีเดีย จำกัด จะดำเนินการจัดทำบทความข่าว พร้อม Infographic และ Motion Infographic เพื่อใช้ในการสื่อสาร ให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมายบน Online media Platform เพื่อสื่อสารให้กับประชาชนในวงกว้าง

Pic01 e1638258158824

ทั้งนี้มุ่งเน้นการใช้คำว่า “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION” เป็น Keyword ในการสื่อสาร และเชื่อว่าการสื่อสารดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนเปิดรับ และกระตุ้นการมีส่วนร่วมมากขึ้น ประกอบกับการสื่อสารในโลกยุคดิจิตัลด้วย บทความพร้อม Infographic และ Motion Infographic จะนำไปสู่ข้อมูลที่สามารถสื่อสารเข้าใจง่ายกับประชาชนทุกกลุ่ม และป้อนสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

มีการจัดทำ Facebook Fan Page “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN Station” และ Line Official Account “ไฟฟ้าสีเขียว” จะช่วยสร้างฐานประชาชนบนโลกโซเชียล ให้มีความสนใจพลังงานชีวมวล และพลังงานสะอาด นำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ต่อยอด และสร้างความเข้าใจทั้งด้านพลังงาน และด้านต่าง ๆ ในอนาคต

Pic02 e1638258204772

ขณะเดียวกัน การสื่อสารในโครงการ ยังมุ่งเน้นการสื่อสารให้ข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจของ คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปพร้อม ๆ กัน ในการเป็นหน่วยงานกำกับกิจการไฟฟ้า ที่ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล เพื่อเป็นการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ

บริษัท โทย่า มีเดีย จำกัด ยังจะเผยแพร่ Content ผ่าน Platform ทั้งในส่วนของ

1. Facebook Fan Page “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION”
2. Line Official Account “ไฟฟ้าสีเขียว”
3. Facebook Group ของแต่ละพื้นที่
4. Line Group ของแต่ละพื้นที่
5. Website ข่าว www.thebangkokinght.com Section Environmental Sustainability

เพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ด้วยการสร้างสรรค์ Content ที่ทันสมัย เข้าใจง่าย และตรงประเด็น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight