COVID-19

‘หมอยง’ ไขข้อข้องใจ โควิด-19 กับ ‘อาหารทะเล’ กินแบบไหนให้ปลอดภัย

โควิด-19 กับ อาหารทะเล หลังผู้ติดเชื้อโควิด สมุทรสาคร พุ่งปรี๊ด “หมอยง” ให้ความมั่นใจ ความร้อนทำลาย ต้มเดือด 100 องศา ไวรัสถูกทำลายทันที

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เกี่ยวกับข้อกังวลของ โควิด-19 กับ อาหารทะเล ว่า จะมีความปลอดภัยในการบริโภค มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนัก ในจังหวัด สมุทรสาคร และลามไปถึงจังหวัดอื่น ๆ โดยระบุว่า

โควิด-19 กับ อาหารทะเล

อาหารทะเล โดยมาก จะต้องทำความเย็น หรือแช่แข็ง เพื่อให้คงคุณภาพได้ดี

ถ้าชาวประมง ผู้ขาย มีการติดเชื้อโควิด-19 โอกาสที่จะเชื้อปนเปื้อนอยู่ในอาหารทะเล และไวรัสคงชีวิตอยู่ได้นาน จึงมีความเป็นไปได้ ที่จะตรวจพบไวรัส ในอาหารทะเลแช่เย็น เช่น การตรวจพบในปลาแซลมอน กุ้งนำเข้าในประเทศจีน

การติดต่อของโรคโควิด 19 ผ่านทางอาหารทะเล มีการตั้งข้อสงสัย ในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม อาหารทะเล สามารถบริโภคได้ ถ้าปรุงสุก ความร้อน สามารถทำลายไวรัส ได้อย่างแน่นอน

โควิด-19 สามารถทำลายด้วยความร้อน 56 องศานานครึ่งชั่วโมง และถ้าความร้อนสูงขึ้น ระยะเวลาก็จะสั้นลง โดยทั่วไปแล้ว ถ้าความร้อนสูงกว่า 85 องศา ก็จะมั่นใจในการทำลายไวรัสได้ และถ้า ต้มให้เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศา ไวรัสจะถูกทำลายทันที

ในช่วงที่มีการระบาดของโรค จึงไม่ควรรับประทานอาหารทะเลดิบ หรือไม่สุก

สิ่งที่จะต้องคำนึง คือ การจับต้องกับอาหารทะเล ที่แช่เย็นมา จะต้องล้างมือให้สะอาด และชำระล้างอาหารทะเล โดยใช้น้ำสะอาด ให้มีปริมาณมากพอ และจะต้องทำความสะอาดมือ ด้วยสบู่ ถ้าเป็นไปได้ ควรใส่ถุงมือ และล้างถุงมือ หรือใช้แบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทุกครั้งต้องล้างมือ ก่อนจับต้องใบหน้า

ในระบบนำส่งอาหารทะเล ก็จะต้องมีมาตรการควบคุมดูแล เรื่อง ความสะอาด ตลอดเส้นทาง

อุตสาหกรรมอาหารทะเล โรงงาน จะต้องหมั่นตรวจดูคนงาน และอาจจำเป็นต้อง สุ่มตรวจหาเชื้อไวรัส โควิด-19 เพราะผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง อาจไม่มีอาการของโรค

อาหารทะเล ยังคงรับประทานได้ตามปกติ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะ ปลาทะเล แต่ขั้นตอนตั้งแต่ผลิต หรือจับมาจากชาวประมง จำหน่าย การเตรียมมาทำอาหาร ทุกขั้นตอน ให้คำนึงเรื่องความสะอาด และความปลอดภัย ในการจับต้องกับอาหารทะเลแช่เย็น หรือแช่แข็ง เพื่อความปลอดภัยของทุกคน”

นอกจากนี้ ยังมีคำยืนยันจาก นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ว่า จากข้อกังวลเรื่อง การบริโภคอาหารทะเล แนะนำให้กินอาหารสุกร้อน เพรามีโอกาสน้อย ที่อาหารจะปนเปื้อนเชื้อ โควิด-19

ทั้งนี้ ความกังวลในเรื่องความปลอดภัยของอาหารทะเล เนื่องจากจังหวัด สมุทรสาคร เป็นแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลแหล่งใหญ่ ที่กระจายไปยังทั่วประเทศ เมื่อตรวจพบผู้ป่วยโควิด 19 เป็นหญิงเจ้าของแพกุ้ง ในตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร และเริ่มพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จึงทำให้เกิดความกังวลขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาเหตุการณ์ตรวจพบ เชื้อโควิด-19 ในอาหารแช่แข็งในต่างประเทศ เช่น การที่รัฐบาลจีนสั่งปิดตลาดสดซินฟาตี้ในกรุงปักกิ่ง หลังจากพบว่า พนักงานหลายคน ล้มป่วยด้วยโรคโควิด -19 บนเขียง สำหรับแล่ปลาแซลมอน ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งสำคัญในการบริโภคอาหารทะเล คือ การปรุงสุกด้วยความร้อนสูง ใช้เวลานาน และควรให้ความสำคัญกับ ขั้นตอนการจัดส่ง และการเตรียมปรุงอาหาร ด้วยการใส่ถุงมือ ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงการใส่หน้ากากอนามัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo