Economics

ลูกหนี้ต้องรู้! ปรับเกณฑ์คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ใหม่ ลดหนี้เสีย เป็นธรรม

ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิด 3 แนวปฏิบัติสำคัญ ปรับเกณฑ์คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ หวังลดหนี้เสีย ลดภาระหนี้ เป็นธรรม โดยคิดจาก “เงินต้นที่ผิดนัดจริง” เท่านั้น ก่อนมีผลบังคับใช้ 1 เมษายน 2564

ในช่วงวิกฤติ “โควิด” เขย่าเงินในกระเป๋า ที่แห้งกรอบอยู่แล้ว ให้แห้งและกรอบซ้ำหนักยิ่งกว่าเดิม ปัจจัยดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบกับการชำระหนี้ของเหล่ามนุษย์เงินเดือน และประชาชนทั่วไปที่หาเช้ากินค่ำ ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยหวังว่าจะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยลดภาระหนี้ สร้างความเป็นธรรม ในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน และ ลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ ในระบบการเงิน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าว จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แนวปฏิบัติที่สำคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่อง คือ

ธนาคารแห่งประเทศไทย

1. การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของ “เงินต้นที่ผิดนัดจริง” เท่านั้น ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้น ของค่างวดในอนาคต ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ต่างจากแนวปฏิบัติเดิม ที่หากผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการทางการเงิน สามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ส่งผลให้ มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้ จะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น

2. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%” เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% ผู้ให้บริการทางการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 11% โดยต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งต่างจากเดิมที่ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง เช่น

กำหนดตามอัตราดอกเบี้ยสูดสุด ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ 15% หรือ บางกรณีสูงถึง 18% หรือ 22% ส่งผลกระทบต่อความสามารถ ในการชำระหนี้ของลูกหนี้ (affordability risk) ได้ ดังนั้น การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้ พยายามจ่ายชำระหนี้ ลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ และ ยังช่วยให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น การฟ้องร้องดำเนินคดีจะลดลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย

3. การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้โดยให้ “ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก” เพื่อให้ลูกหนี้ ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามา จะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และ เงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ต่างจากแนวทางเดิม ที่เงินที่จ่ายเข้ามา จะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด  ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้น

ซึ่งการปรับเกณฑ์ใหม่นี้ จะช่วยเพิ่มโอกาส ให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือน สามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น ช่วยลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ หรือ NPL รวมทั้งช่วยให้ลูกหนี้ มีกำลังใจในการจ่ายชำระหนี้ต่อเนื่อง และ ยังช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ ของลูกหนี้สอดคล้อง กับ ข้อเท็จจริงมากขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ประกาศการกำหนดเกณฑ์ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากผู้ให้บริการทางการเงิน ต้องใช้เวลาในการปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี สำหรับการใช้ฐานของงวดที่ผิดนัดชำระหนี้จริง มาคำนวณ ธปท. ได้มีหนังสือเวียนไปก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 ผู้ให้บริการทางการเงิน ได้ปรับมาใช้เกณฑ์ใหม่ ในการคำนวณแล้ว ซึ่งประชาชนและธุรกิจ SMEs จะได้รับสิทธิตามที่ประกาศฉบับนี้ กำหนดเป็นการทั่วไป โดยไม่ต้องติดต่อสาขา ของผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อแก้ไขสัญญาแต่อย่างใด

สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2564 ผู้ให้บริการทางการเงิน สามารถนำหลักการตามประกาศฉบับใหม่ มาใช้พิจารณายกเว้น หรือ ผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ให้แก่ลูกหนี้ตามสมควร โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่ลูกหนี้จำนวนมาก กำลังเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด 19 หากประชาชนมีข้อสงสัย หรือ ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้สรุปว่า คนไทยได้อะไรจากประกาศฉบับนี้ ประกาศฉบับนี้ จะนำไปสู่เปลี่ยนแปลงใหญ่ในแนวปฏิบัติเรื่องการชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดหนี้เสียของระบบการเงินโดยรวม และช่วยให้ลูกหนี้ ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดชำระหนี้ ให้สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ เนื่องจากดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จะไม่สูงเกินสมควร จนทำให้จ่ายหนี้ไม่ได้ รวมทั้งจะสร้างแรงจูงใจ ในระบบการเงินให้สมดุลมากขึ้น และจะช่วยลดจำนวน การฟ้องร้องดำเนินคดี

นอกจากนี้ การปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้คำนวณจากฐานของงวดที่ผิดนัดจริง ก็จะช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งก็จะมีผลทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของไทยในภาพรวมด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo