Business

งาน 4 แสนตำแหน่ง รออยู่! ภาครัฐเร่งปั้นบุคลากร ป้อนอีอีซี

งาน 4 แสนตำแหน่ง รออยู่ที่อีอีซีซี รัฐบาลเร่งปั้นบุคลากร สร้างโอกาสคนรุ่นใหม่ กระทรวงแรงงานรับลูก ตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตอีอีซี

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มี งาน 4 แสนตำแหน่ง ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดย กระทรวงแรงงาน รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ได้ให้บริการจัดหางานแก่กลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิม และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve) (อาทิ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร)

งาน 4 แสนตำแหน่ง

จากการบริการจัดหางานดังกล่าว จากที่ตั้งเป้าไว้ 28,000 คน แต่เมื่อดำเนินงานจริง สามารถจัดหางานได้มากถึง 40,464 คน คิดเป็น 144.51% ส่วนงานบริการแนะแนวอาชีพให้นักเรียน นักศึกษา ตั้งเป้าไว้ที่ 48,838 คน ผลการดำเนินงานเกินเป้าหมายเช่นกัน โดยมีจำนวน 70,401 คน คิดเป็น 144.15%

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ และติดตามการขับเคลื่อน โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีเป้าหมาย เพื่อยกระดับการพัฒนา ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง

สำหรับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของโครงการดังกล่าว ซึ่งกระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Labour Administration Center) ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 จ.ชลบุรี โดยร่วมมือกับหลายภาคส่วน

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ประมาณการณ์ว่า ในระยะเวลา 5 ปี (2562-2566) จะมีงานกว่า สี่แสนกว่อัตรา ทั้งในระดับอาชีวะ และปริญญาตรี ที่เป็นความต้องการของภาคเอกชนต่อบุคลากรไทยในพื้นที่อีอีซี

รัชดา ธนาดิเรก
รัชดา ธนาดิเรก

ที่ผ่านมา สกพอ. ได้ร่วมมือกับ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สร้างหลักสูตรพัฒนาทักษะบุคลากร ให้ตรงความต้องการภาคเอกชน (EEC Model) ควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจแก่เอกชนที่รับนักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้ คือ จะได้รับการลดหย่อนภาษีด้วย

ส่วนการเตรียมพร้อมในระยะยาว กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) ขับเคลื่อนการเรียนการสอน ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) อย่างต่อเนื่อง

การดำเนินงานขับเคลื่อน ภาษาคอมพิวเตอร์ มีทั้งจัดหลักสูตรที่เป็นที่ต้องการ การจัดอบรมพัฒนาครู สำหรับการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน และการส่งเสริมเด็กให้เรียนภาษาคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ทั้งนี้ เป็นการสร้างทรัพยากรบุคคล ให้ตรงกับความต้องการ ของภาคเอกชนในอนาคต

สุชาติ ชมกลิ่น
สุชาติ ชมกลิ่น

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการจ้างงานภายหลังการจัดมหกรรมจ๊อบเอ็กซ์โป ว่าการจัดงานดังกล่าวจำนวน 1 ล้านตำแหน่ง ถือเป็นนโยบายที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งตัวเลขบรรจุงานล่าสุด คือ 399,072 อัตรา หรือประมาณ 40%

ทั้งนี้ เป็นการจ้างงานของภาครัฐ 2 แสนอัตรา เอกชน 1 แสนอัตรา และส่งแรงงานไปต่างประเทศ 3 หมื่นอัตรา เป็นต้น โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน หลังการจัดงานจ๊อบเอ็กซ์โป ปลายเดือน กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก

แต่จากข้อมูลของบางสื่อได้วิเคราะห์ อาจโฟกัสไปที่นักศึกษาจบใหม่ซึ่งถือเป็นเสี้ยวหนึ่งของการจัดงานดังกล่าว ซึ่งมีการจ้างงาน 4 กลุ่ม และนักศึกษาจบใหม่เป็น 1 กลุ่มเท่านั้น

“เราตั้งเป้าจ้างนักศึกษาจบใหม่ 2.6 แสนอัตราก็จริง แต่การจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ตั้งแต่เดือน เมษายน- ตุลาคม มีจำนวน 182,000 คน และ ภายหลังการจัดงานจ๊อบเอ็กซ์โปเมื่อปลายเดือนกันยายน ต่อมามีตัวเลขระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม- 31 ตุลาคม มีการจ้างงานคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีลงมา 2 หมื่นกว่าอัตรา แต่เข้าระบบ Co-payment หรือจ้างงานเด็กจบใหม่

“การที่มีบางสื่อ ระบุว่า จ้างงาน 2,000 อัตรา ผมไปตรวจสอบ บริษัทที่ไม่เข้าร่วมโครงการ จ้างนักศึกษาจบใหม่ เพราะอยู่ในภาคธุรกิจที่ยังแข็งแรงอยู่ และต้องการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้พนักงาน เช่น ธุรกิจยานยนต์ อุตสาหกรรมรถยนต์ สิ่งทอ ซึ่งขณะนี้ฟื้นตัวแล้ว”นายสุชาติ กล่าว

ดังนั้นหากจ้างนักศึกษาจบใหม่ เข้าโครงการนี้ อาจจะไม่ได้รับความมั่นคงในชีวิต เนื่องจากเป็นการจ้างงานปีเดียว ซึ่งบริษัทต่าง ๆ มีความแข็งแรง จึงสามารถจ้างแรงงานปกติได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังมีงบประมาณเพื่อรับนักศึกษาที่จบใหม่ในเดือน เมษายน 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo