Economics

ผุดไอเดียสร้าง ‘ทางด่วนใต้ดิน’ สายแรกแก้ปัญหารถติดสาธร

อาคม31

“บิ๊กตู่” ปิ๊งไอเดียสร้างอุโมงค์ใต้ดินแก้ปัญหารถติด ด้าน “สนข.” รับลูกผุดทางด่วนใต้ดินสายแรก “นราธิวาส-สำโรง” ลอดใต้บางกระเจ้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานครบรอบ 16 ปี สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วันนี้ (9 ต.ค.) ว่า ได้มอบหมายให้ สนข. เร่งศึกษาและวางแผนโครงข่ายจราจรให้เชื่อมโยงกันทุกระบบ รวมทั้งแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามนโยบายของรัฐบาล โดยขอให้พิจารณาโครงการก่อสร้างถนนลอดใต้ดิน หรืออุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรบนพื้นราบ เนื่องจากกรุงเทพฯ มีผิวจราจรจำกัด และปัจจุบันก็มีโครงการทางยกระดับจำนวนมาก ซึ่งอาจขยายต่อไปอีกไม่ได้

ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปหามาตรการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแบบเร่งด่วน แนวทางหนึ่งคือ ให้ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างถนนใต้ดินในลักษณะของอุโมงค์ เนื่องจากปัจจุบันมีการขยายถนนพื้นราบและทางยกระดับในกรุงเทพฯ เกือบเต็มพื้นที่แล้ว ล่าสุดกระทรวงคมนาคมจึงได้มอบให้ สนข. ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และคาดว่าจะสรุปผลเสนอกลับไปยังกระทรวงคมนาคมได้ใน 2-3 เดือนนี้

“จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะจัดสร้างทางด่วนใต้ดินเส้นทางแรกในประเทศไทย เส้นทางจะเริ่มจากบริเวณถนนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ไปจนถึง อ.สำโรง จ.สมุทรปราการ เพราะเป็นเส้นทางที่มีลักษณะตัดตรงในระยะยาว สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่น บริเวณสาธร สีลม และบริเวณใกล้เคียงได้มาก เบื้องต้นอาจจะสร้างเป็นทางด่วนใต้ดิน มีการเก็บเงินค่าผ่านทางสำหรับคนที่เข้ามาใช้ เพราะถือเป็นถนนทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ต้องการไปเสียเวลากับรถติด” นายชยธรรม์กล่าว

รายงานข่าวจาก สนข. ระบุว่า ทางด่วนใต้ดินเส้นทางนราธิวาสฯ- สำโรง จะลอดใต้พื้นที่บางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร โดย สนข. ได้พิจารณาการสร้างทางด่วนใต้ดิน 2 ชั้น ชั้นบนจะทำเป็นถนนให้รถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) และชั้นล่างเป็นถนนสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลวิ่ง ซึ่งจะมีการจัดเก็บค่าบริการเหมือนทางด่วนทั่วไป เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก และยังถือเป็นถนนทางเลือกอีกด้วย

ด้านงบประมาณในการก่อสร้างยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะเป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นตามคำสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่มีการว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นได้อย่างจริงจัง แต่จากการสำรวจเบื้องต้นก็พบว่าต้นทุนก่อสร้างสูง ตั้งแต่ 2,000-10,000 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ขึ้นอยู่กับราคาที่ดินและเทคโนโลยี เพราะมีตั้งแต่เทคโนโลยีการเจาะอุโมงค์ใต้ดินเหมือนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ไปจนถึงเทคโนโลยีการวางอุโมงค์บนผิวน้ำ ด้านระยะเวลาก่อสร้างจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ปี

ทั้งนี้ หากมีการสร้างทางด่วนใต้ดินจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดใน กรุงเทพฯ ได้มาก โดยเฉพาะย่านศูนย์กลางธุรกิจสำคัญ (CBD) บริเวณสาธร สีลม บางรัก พระราม4 เพราะสามารถระบายรถจากกรุงเทพฯ ออกไปยังสมุทรปราการได้เร็ว และยังสามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังทางด่วนบางนาได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สนข. ได้ทำการศึกษาถนนใต้ดินต้นแบบจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการก่อสร้างคือ ถนนใต้ดินย่านชินจูกุ ของประเทศญี่ปุ่น, เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา, มาเลเซียและ ออสเตรเลีย เป็นต้น

Avatar photo