Finance

ช็อก!!ค้างจ่าย 9 ล้าน เรียกดบ. 400 ล้านผลงานแบงก์รัฐ

2
การดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินของรัฐแต่ละแห่ง เชื่อว่ามีแนวนโยบายและเป้าหมายที่ดี  เป็นสถาบันการเงินที่ให้โอกาสกับประชาชน และลูกค้าได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึง เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของลูกค้า แต่ข้อสำคัญที่สถาบันการเงินจะต้องมีต่อลูกค้านั่นคือ  ความโปร่งใสถือเป็นเรื่องสำคัญ
แต่วันนี้เริ่มมี “สถาบันการเงินของรัฐขนาดใหญ่”แห่งหนึ่ง กำลังสร้างความกังขาให้กับลูกค้าหรือลูกหนี้นั่นเอง ก็เพราะมีลูกค้ารายหนึ่งได้ทำการกู้เงิน หรือ ขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินของรัฐแห่งหนึ่งเพื่อไปลงทุนโครงการหนึ่ง โดยใช้หลักทรัพย์ที่เป็นที่ดินราวๆ 100 ไร่ ในการค้ำประกัน วงเงินที่กู้ไปก็ร่วมๆ 900 ล้านบาท
ระหว่างทางก็มีการฟ้องร้องการชำระหนี้เกิดขึ้น จนทำให้ผู้กู้และธนาคารได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เกิดขึ้น และมีการทำสัญญาการชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยขึ้นใหม่ ตามคำสั่งศาล ในฐานะลูกหนี้เมื่อมีคำสั่งศาลให้ดำเนินการก็ย่อมที่จะต้องปฎิบัติตาม

ในการชำระหนี้ที่คั่งค้างพร้อมดอกเบี้ย เรียกว่าทั้งเจ้าหนี้(ธนาคาร) และลูกหนี้(ผู้กู้) แน่นอน ก็ต้องมีลายลักษณ์อักษร การชำระหนี้คืนในแต่ละงวดเงินต้นเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ รวมเงินที่ต้องชำระแต่ละงวดเท่าไหร่ เช็คสั่งจ่ายแต่ละงวดเลขที่เท่าไหร่ ใครเซ็นรับ เซ็นจ่าย ตรงนี้ก็น่าจะมีลายลักษณ์อักษร เป็นเครื่องยืนยัน

เอาเป็นว่าลูกหนี้รายนี้ได้มีการผ่อนชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เรียกว่ามีชำระหนี้มาต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 6-7 ปี มีจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยที่ชัดเจน ดอกเบี้ยก็ไม่น้อยทีเดียวดูเหมือนจะสูงถึง 15%

แต่ด้วยความไม่รอบคอบของลูกหนี้ อยู่ผ่อนส่งมาเกือบตายงวดละหลายสิบล้านบาท บางงวดเป็นร้อยล้านบาท เรียกว่าผ่อนกัน“ตาตั้ง”ทีเดียว แต่อยู่ๆ ดันมาลืมส่งงวดสุดท้ายวงเงินไม่ถึงสิบล้านบาท จนทำให้สถาบันการเงินของรัฐแห่งนี้ ได้ทำหนังสือทวงถามไปหลายรอบ

เวรกรรมอุตส่าห์ผ่อนส่งมาแทบตาย ดันมาตกม้าตายแบบดื้อๆ นั่นคือลืมส่งงวดสุดท้ายนั่นเอง

ด้วยความเป็นลูกหนี้ แน่นอนยังไงก็ต้องหาทางชดใช้หนี้ก้อนนี้ เพื่อแลกกับหลักทรัพย์ที่นำไปค้ำประกันไว้ และคิดว่าสักวันหนึ่งจะต้องนำเอาหลักทรัพย์ที่ไปค้ำประกันออกมาให้ได้ ตรงนี้เป็นความหวังของลูกหนี้ทุกราย ยกเว้นประเภทเบี้ยวหนี้ “ไม่ก็ไม่มีไม่จ่าย”

ความประหลาดของลูกหนี้รายนี้ ไม่แน่ใจว่าจะคิดเบี้ยวหนี้หรือไม่ แต่หากวิเคราะห์จากเอกสารหลักฐาน และตารางการชำระหนี้แล้ว ดูเหมือนจะไม่มีเจตนาที่จะเบี้ยวหนี้แม้แต่น้อย ก็เพราะตามเอกสารมีการชำระหนี้มาตลอดระยะเวลา 6-7 ปี อย่างต่อเนื่อง

สุดท้ายเมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมา ลูกหนี้ก็ได้ติดต่อขอชำระหนี้ก้อนสุดท้าย พร้อมดอกเบี้ยเบ็ดเสร็จรวมๆแล้วเกือบ 23 ล้านบาท แต่กว่าที่สถาบันการเงินรัฐแห่งนี้ จะรับมอบเงินก้อนนี้ ดูเหมือนปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปร่วมๆ 5 เดือน

ด้วยความหวังของลูกหนี้คิดว่าเมื่อชำระหนี้ครบทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย สถาบันการเงินแห่งนี้น่าจะ“ไถ่ถอนหลักประกันคืน” แต่เรื่องไม่ได้จบแค่นี้ ความแปลกประหลาดก็เกิดขึ้น เมื่อสถาบันการเงินของรัฐแห่งนี้ แจ้งกลับลูกหนี้ ต้องชำระดอกเบี้ยค้างจ่ายอีกร่วมๆ 400 ล้านบาท กับตัวเลขเงินต้นที่ค้างจ่ายไม่ถึงสิบล้าน

โอ้..แม่เจ้า!! งานนี้ช็อก..กันละซิ เงินต้นค้างจ่ายแค่ไม่ถึงสิบล้าน แต่เหตุไฉนดอกเบี้ยมันบานขนาดนี้ เขามีวิธีคิดคำนวณกันอย่างไร หรือว่าเงื่อนไขการให้กู้มันซ่อนเร้นจนลูกหนี้ตามไม่ทันหรือกระไรเนี่ย

ว่ากันว่าเวลากู้เงินมันก็ยากพออยู่แล้ว พอจะจ่ายคืนมันยิ่งยากเข้าไปอีกหรือเนี่ย แถมตอนนี้เริ่ม“ส่งกลิ่น” ไม่ค่อยจะสู้ดีสักเท่าไหร่ ตื้นลึกหนาบางอย่างไร กับกรณีหนี้ผู้เกี่ยวข้องของสถาบันการเงินแห่งนี้น่าจะรู้ดี

ยิ่งไปกว่านี้ก็ต้องถามไถ่ลูกหนี้เหมือนกัน ทำไมธนาคารเจ้าหนี้ถึงไม่ยอม“ไถ่ถอนหลักประกันคืน” ให้สักที  กรณีเรียกดอกเบี้ยมาอีกร่วมๆ 400 ล้านบาท มันคิดกันอย่างไร ที่ไป ที่มามันคืออะไร เจ้าหนี้เท่านั้นน่าจะมีคำตอบที่ดีได้

แต่ที่แน่ๆงานนี้ไม่น่าจะจบสวยงามสักเท่าไหร่ แม้อีกฝ่ายจะเสนอให้ไปฟ้องร้องเอาก็เถอะ หากอยากจะได้ “หลักทรัพย์” ที่งงหนักนี่มันอะไรกัน แล้วต่อไปจะมีลูกค้าคนไหนกล้าที่จะไปทำธุรกิจกรรม หรือขอสินเชื่อจากธนาคารอีกหรือ หากต้องเจอสภาพอย่างนี้ จะมีสักกี่รายที่จะดิ้นรนแก้ปัญหาด้วยการไปยื่นฟ้องร้องขอ “หลักทรัพย์”คืน ลำพังแค่หาเงินมาชดใช้หนี้มันก็แย่อยู่แล้ว

แน่นอนในองค์กรสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ย่อมมีนักกฎหมาย  ผู้ที่เชี่ยวกราดในการให้สินเชื่อ การติดตามทวงหนี้ แต่ควรมีมาตรฐานในการดูแลลูกหนี้ด้วย เพื่อให้เขาหลุดพ้นจากวงจรลูกหนี้ที่เป็นอยู่

จริงๆ เรื่องอย่างนี้ผู้มีอำนาจที่ดูแลและควบคุมแบงก์รัฐน่าจะได้รับรู้รับทราบบ้าง ว่าเกิดอะไรขึ้น ลูกหนี้เขาคิดฉ้อโกงจริงหรือไม่ หรือเกิดจากความผิดพลาดอะไร

แต่หากวิเคราะห์แล้วแบงก์ไม่เสียหาย ก็น่าจะได้รับการช่วยเหลือเพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรลูกหนี้ ที่สำคัญแบงก์ควรเข้มงวดกับลูกค้าที่มีแววจะไม่สามารถชำระหนี้ได้เสียมากกว่า

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight