General

เตรียมพร้อม! มท.1 วาง 5 มาตรการเฝ้าระวัง ‘อุบัติเหตุปีใหม่’ สั่งใช้กฏหมายเข้ม

5 มาตรการเฝ้าระวังอุบัติเหตุปีใหม่ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” มท.1 ย้ำเข้มบังคับใช้กฎหมาย วอนประชาชนตระหนักความปลอดภัย

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย (มท.1.) ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ได้วาง 5 มาตรการเฝ้าระวังอุบัติเหตุปีใหม่ หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมมีมติรับทราบตามที่ ศปถ. เสนอแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วง เทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564

5 มาตรการเฝ้าระวังอุบัติเหตุปีใหม่

ทั้งนี้ เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน มุ่งเน้นการบริหารจัดการ ในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง ควบคู่การดำเนินการ ตามมาตรการ และแนวทางเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ดำเนินงานอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชน หมู่บ้าน อาสาสมัครต่าง ๆ และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยให้ อปท.เป็นเจ้าภาพการดำเนินการ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง การเกิดอุบัติเหตุให้เหลือน้อยที่สุดและดูแลความปลอดภัยการเดินทาง ของประขาชน อย่างครอบคลุมทุกมิติ

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจ กับชีวิตวิถีใหม่ ที่ห่างไกลจากอุบัติเหตุ ตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 สอดคล้องตามแผนบูรณาการฯ ดังกล่าว จึงได้กำหนดการรณรงค์ภายใต้ชื่อ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ”

โครงการดังกล่าว มีเป้าหมายลดจำนวนครั้ง การเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับสถิติช่วงเทศกาลปีใหม่เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง และจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ ในระดับจังหวัด และอำเภอเสี่ยงที่เป็นสีแดง ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงเดียวกันย้อนหลัง 3 ปี

สำหรับโครงการดังกล่าว ได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ช่วง คือ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา

  • ช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น วันที่ 22 – 28 ธันวาคม 2563
  • ช่วงควบคุมเข้มข้น วันที่ 29 ธันวาคม 2563 – 4 มกราคม 2564
  • ช่วงหลังควบคุมเข้มข้น วันที่ 5-11 มกราคม 2564

ในส่วนของมาตรการป้องกัน และ ลดอุบัติเหตุ ทางถนน 5 ด้าน ได้แก่

1. ด้านการบริหารจัดการ อาทิ จัดตั้งศูนย์ป้องกัน และ ลดอุบัติเหตุ ทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ทั้งส่วนกลาง ระดับจังหวัด อำเภอ กทม. และอปท. การลดปัจจัยเสี่ยง โดยใช้กลไกท้องที่ควบคุมและดำเนินการมาตรการเชิงรุก “เคาะประตูบ้าน” เพื่อสอดส่อง ดูแล ป้องปราม และตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่

2. ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม ด้วยการตรวจสอบลักษณะกายภาพถนน จุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ และปรับปรุงแก้ไขให้มีความปลอดภัย และกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟให้มีความปลอดภัยในการสัญจร เป็นต้น

3. ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ ด้วยการกำกับ ควบคุม ดูแลรถโดยสารสาธารณะ รถโดยสารไม่ประจำทาง พนักงานขับรถ และพนักงานประจำรถ ถือปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายอย่างเคร่งครัด และขอความร่วมมือกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก หยุดประกอบกิจการ หรือหลีกเลี่ยงการใช้รถบรรทุก ในการประกอบกิจการช่วงเทศกาลปีใหม่

4. ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้ง “ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์” อย่างเข้มข้นภายใต้มาตรฐาน ของกระทรวงสาธารณสุข และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

5. ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ โดยจัดเตรียมความพร้อม โรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยกู้ชีพ กู้ภัย และแบ่งมอบพื้นที่ความรับผิดชอบ การติดต่อประสานงาน ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนทันที

พร้อมกันนี้ ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ความสำคัญในการดำเนินงานเชิงรุก และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เคร่งครัดและต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึก และความตระหนักด้านความปลอดภัย ให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และประชาชน เพื่อสร้างความปลอดภัย และสร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo